วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2550

วัดช้างให้

วัดช้างให้ (วัดราษฎร์บูรณะ)




(จากซ้ายไปขวา) นายช่วง สิมศิริ, นายกวี จิตรกูล, นายอนันต์ คณานุรักษ์
, อาจารย์ทิม ธัมมธโร, นายสุนนท์ คณานุรักษ์, นายวิศิทฏ์ คณานุรักษ์ และนายชาติ สิมศิริ

วัดช้างให้ หมายความว่า ที่ดินสร้างวัดนี้ช้างบอกให้ เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งยืนนานประมาณ ๓๕๐ ปีเศษ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้มาแล้ว ๔ องค์ และทุกๆ องค์ปกครองวัดนี้อยู่ได้ไม่นาน มักจะมีอุปสรรคนานาประการ ถึงกับต้องจากไปหรือมรณะ เล่าต่อๆ กันมาว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ อาถรรพ์วัดนี้แรงมาก เจ้าอาวาสผู้มีบุญบารมีน้อย จะไม่สามารถครองอยู่ได้ เหตุนี้วัดช้างให้จึงถูกทอดทิ้งให้รกร้างเป็นระยะหลายครั้งหลายหน ร้างลงแต่ละครั้งละหนเป็นเวลาห่างกันนานๆ ตั้งสิบๆ ปีถึงร้อยปีก็มี

ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร (ท่านพระครูวิสัยโสภณ) ได้เข้าครองเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ในขณะที่ท่านอาจารย์ทิมเข้ามาควบคุมการแผ้วถางป่า ในบริเวณวัดร้างนี้ต้องตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ๆ ขนาดคนโอบไม่รอบเสียหลายต้น นี่ก็แสดงให้รู้ว่าวัดร้างมานานมาก ต้นไม้จึงใหญ่โตขนาดนี้ เมื่อแผ้วถางป่าปราบพื้นที่ลงเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าวัดช้างให้เป็นพุทธภูมิที่เหมาะสม เป็นที่น่าอยู่อาศัยของสมณะผู้แสวงธรรมรักสงบ จึงได้มีพระภิกษุและสามเณรเข้ามาอาศัยจำพรรษาเรื่อยๆ มา




เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกทั่วประเทศไทยจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ รถไฟสายใต้ หาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ต้องทำการขนส่งทหารญี่ปุ่นและสัมภาระ ผ่านประตูวัดช้างให้วันละหลายๆ ครั้ง ประชาชนตื่นตกใจหวาดกลัวภัยสงคราม ไม่เป็นอันจะทำมาหากิน การบูรณะวัดช้างให้จึงหยุดชงักลงชั่วคราว (ท่านพระครูวิสัยโสภณ เข้ามาอยู่วัดช้างให้ประมาณ ๔ เดือน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒) หลังจากสงครามนี้สงบลงแล้วโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายยอมแพ้ ประชาชนชาวพุทธก็ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ส่วนพี่น้องชาวพุทธที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดก็ได้ร่วมมือร่วมใจกันสละแรงงานช่วยเหลือการบูรณะวัดต่อเติมจนเรียบร้อย

เมื่อการบูรณะวัดช้างให้สะอาดสอ้านตาขึ้นมากแล้ว ทางด้านสถูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุอัฐิของท่านช้างให้องค์แรกหรือหลวงพ่อทวดฯ ประดิษฐานอยู่ที่หน้าวัดนั้น ก็เป็นที่จูงใจของประชาชนหลายชาติหลายภาษาให้มาเคารพบูชา นำลาภสักการหลั่งไหลเข้าสู่วัดนี้เรื่อยๆ มา ท่านพระครูฯ จึงดำริที่จะสร้างพระอุโบสถไว้ เพื่อเป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา และจะได้เป็นที่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ในวัดได้ทำสังฆกรรมต่อไป ความจริงนั้นครั้งโบราณกาลมาวัดนี้เคยมีโบสถ์มาก่อนแล้ว แต่ชำรุดสลายตัวไปหมดเพราะกาลเวลา ที่ปรากฎให้เห็นก็เพียงหลักพัทธสีมา และเนินดินเป็นที่โบสถ์เก่าเท่านั้น ท่านพระครูจึงได้กำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ อันเป็นรากฐานของโบสถ์แห่งใหม่ ในวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้วขุดดินลงรากก่อกำแพงผนังโบสถ์ สืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ งานก่อสร้างสำเร็จลงเพียงกำแพงผนังโบสถ์โดยรอบเท่านั้น งานก่อสร้างก็ได้หยุดชงักลง ๘ - ๙ เดือน เพราะหมดเงินทุนที่จะใช้จ่ายต่อไป




ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หรือท่านสมภารองค์แรกของวัดช้างให้ ได้ประทานนิมิตรฝันอันเป็นมงคลยิ่งแก่นายอนันต์ คณานุรักษ์ หรือผู้เขียน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ห่างไกลจากวัดประมาณ ๓๑ กิโลเมตร ให้ผู้เขียนมาจัดการสร้างพระเครื่องลางเป็นรูปพระภิกษุชราขึ้นแทนองค์ของท่าน เมื่อผู้เขียนได้นมัสการท่านพระครูวิสัยโสภณ และเตรียมงานสร้างพระพร้อมแล้ว ถึง ๑๙ มีนาคม ๒๔๙๗ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง ได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกเบ้าและพิมพ์พระเครื่องเรื่อยๆ มาทุกๆ วัน จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๙๗ พิมพ์พระเครื่องได้ ๖๔,๐๐๐ องค์ (จะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่เวลาจำกัดในพิธีปลุกเสก) ก็ต้องหยุดลง เพื่อเอาเวลาเตรียมงานพิธีปลุกเสกพระเครื่อง ตามที่หลวงพ่อทวดฯ กำหนดให้ท่านพระครูปฏิบัติ

ถึงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๗ ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง ได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกพระเครื่อง ณ เนินดินบริเวณโบสถ์เก่า โดยมีท่านพระครูวิสัยโสภณเป็นองค์ประธานในพิธีและนั่งปรก ได้อาราธนาอัญเชิญพระวิญญาณหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พร้อมด้วยวิญญาณหลวงพ่อสี หลวงพ่อทองและหลวงพ่อจันทร์ ซึ่งหลวงพ่อทั้งสามองค์นี้สิงสถิตย์อยู่ร่วมกับหลวงพ่อทวดฯ ในสถูปหน้าวัด ขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ขลังแก่พระเครื่องฯ นอกจากนั้นก็มีหลวงพ่อสงโฆสโก เจ้าอาวาสวัดพะโคะ เวลานี้ พระอุปัชฌาย์ดำ วัดศิลาลอย พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อาวุโส ณ วัดช้างให้ ร่วมพิธีปลุกเสกพระเครื่องเสร็จลงในเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันนั้น ท่านพระครูฯ พร้อมด้วยพระภิกษุอาวุโสและคณะกรรมการ มี นายอนันต์ คณานุรักษ์ (ผู้เขียน) นายชาติ สิมศิริ นายกวี จิตกูล นายวิศิษฐ์ คณานุรักษ์ นายวิทยา คณานุรักษ์ นายสุนนท์ คณานุรักษ์ และนายจำรูญ คณานุรักษ์ ได้ร่วมกันทำการแจกจ่ายพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ให้แก่ประชาชนผู้เลื่อมใสซึ่งมาคอยรอรับอยู่อย่างคับคั่งจนถึงเวลาเที่ยงคืน ปรากฏว่าในวันนั้นกรรมการได้รับเงินจากผู้ใจบุญโมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เป็นจำนวน ๑๔,๐๐๐ บาท

หลังจากนั้นมา ด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารหลวงพ่อทวดฯ ดลบันดาลให้พี่น้องหลายชาติหลายภาษา ร่วมสามัคคีสละทรัพย์โมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เรื่อยๆ มา งานก่อสร้างโบสถ์จึงมีกำลังดำเนินการต่อไปโดยมิได้หยุดยั้งจนถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๙ ได้จัดทำพิธียกช่อฟ้า และวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ พิธีผูกพัทธสีมา โบสถ์หลังนี้จึงสำเร็จสมบูรณ์ และพระภิกษุสงฆ์ได้อาศัยทำสังฆกรรมถึงเวลานี้ รวมค่าก่อสร้างประมาณ ๘ แสนบาท ขอให้พี่น้องทุกคนจงรับเอาส่วนกุศลจงทั่วๆ กันเทอญ




พี่น้องทั้งหลายผู้ใดที่ยังไม่มีพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ ไว้บูชา หรือท่านเคยมีแล้ว แต่หากสูญหายไป แต่ท่านก็ยังมีความเลื่อมใสในอภินิหารของท่านอยู่ เพื่อท่านจะได้ขอความคุ้มครองพิทักษ์รักษาให้แคล้วคลาดปลอดภัยนานาประการ ท่านจงระลึกถึงหลวงพ่อทวดฯ และอาราธนาคาถา "นะโมโพธิสัตว์โต อาคันติมายะ อิติภะคะวา" ในเวลาที่จะให้ท่านคุ้มครองและรักษาโรคภัยบางประการ ท่านจะได้รับผลเช่นเดียวกันกับท่านมีพระเครื่องรูปขององค์ท่านอยู่ประจำตัวเช่นเดียวกัน





โดย: นายอนันต์ คณานุรักษ์ - หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)




ไม่มีความคิดเห็น: