วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2550

พระครูวิสัยโสภณ

พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธัมมธโร)




พระครูวิสัยโสภณ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในนามของอาจารย์ทิมนั้น เดิมชื่อนายทิม พรหมประดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ณ บ้านนาประดู่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทองกับนางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๖ คนเมื่อท่านอายุได้ ๙ ขวบ บิดามารดาได้ฝากให้อยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท ซึ่งขณะนั้นยังเป็น พระแดง ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดนาประดู่ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ท่านได้บวชเป็นสามเณร




(ภาพ: อาจารย์ทิม ธัมมธโร ขณะกำลังบริกรรมคาถาในพิธีเททองหล่อพระเครื่องหลวงพ่อทวด ปี 2505
โดยมีนายอนันต์ คณานุรักษ์ ยืนอยู่ด้านหลัง, ภาพนี้ถ่ายโดยนายจำเริญ วัฒนายากร)


จากนั้นก็สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาจนอายุได้ ๒๐ ปี จึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดนาประดู่ โดยจำพรรษาที่วัดนาประดู่ ๒ พรรษา แล้วจึงย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาก็ได้ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ซึ่งในตอนแรกยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดช้างให้กับวัดนาประดู่ เพราะท่านยังคงเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ด้วย

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลายๆ เที่ยว และหลายๆ ขบวน ทำให้ประชาชนขวัญเสียหวาดกลัวภัยสงคราม พระครูวิสัยโสภณ หรืออาจารย์ทิม ต้องรับภาระหนัก คือต้องจัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่ต้น




(ภาพ: อาจารย์ทิม กับนายอนันต์ และนายสุนนท์ คณานุรักษ์ (นั่งขวามือของภาพ))


เมื่อครั้งที่ท่านไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม ท่านได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา ท่านได้ดำริที่จะสร้างพระอุโบสถ โดยท่านได้ร่วมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยทำพิธปลุกเสกมีพระครูวิสัยโสภณ หรืออาจารย์ทิมเป็นประธานในพิธีและนั่งปรก ได้เงินจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดได้นำเงินมาสร้างพระอุโบสถ และปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้




(ภาพ: อาจารย์ทิม ธัมมธโร โดยมีนายอนันต์ คณานุรักษ์ ยืนอยู่ซ้ายมือของท่าน)


พระครูวิสัยโสภณได้เริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหารตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ แม้ว่าพระครูวิสัยโสภณแห่งวัดช้างให้ได้มรณภาพไปนานแล้ว แต่สิ่งที่ท่านสร้างไว้อาทิเช่นพระอุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานหลวงปู่ทวด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการะ สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ กุฏิสำหรับเป็นที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญตลอดถึงวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้หลังคาทรงเรือนไทยเป็นตึก ๒ ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางวัดช้างให้ ฯลฯ ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของท่านพระครูวิสัยโสภ



โดย: หนังสือรวมเรื่องน่ารู้ ภาคใต้ โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๓๐), บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)

ไม่มีความคิดเห็น: