วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2550

พระครูธรรมกิจโกศล

พระครูธรรมกิจโกศล (พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต) วัดทรายขาว

ถ้าเอ่ยชื่อพระครูธรรมกิจโกศล หลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อพระอาจารย์นองวัดทรายขาวน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก

"เกจิดัง" พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว ปัตตานี

**เจ้าตำรับตะกรุดนารายณ์แปลงรูป "กระฉ่อนเมือง"

พระครูธรรมกิจโกศล หรือ พระอาจารย์นอง ธมฺมภูโต เดิมชื่อ "นอง หน่อทอง"เกิดเมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีมะแม ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2462 ที่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โยมบิดาชื่อ นายเรือง หน่อทอง โยมมารดาชื่อ นางทองเพ็ง มีพี่น้อง 3 คน คนแรก คือตัวพระอาจารย์นอง คนที่สองนางทองจันทร์ และคนที่สามนายน่วม พระอาจารย์นองเรียนจบ ป.3 ที่โรงเรียนนาประดู่ ขณะมีอายุ 15 ปี ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อายุ 19 ปี ที่วัดนาประดู่ มีพระพุทธไสยารักษ์ (นุ่ม) วัดหน้าถ้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่บวชได้ 1 เดือน ก็ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวนต่อไประยะหนึ่ง จนกระทั่งอายุได้ 21 ปี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2482 ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดนาประดู่ โดยมีพระครูวิบูลย์สมณกิจ (ชุ่ม) วัดตุยง เจ้าคณะเมืองหนองจิก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดำ วัดนางโอ และพระครูภัทรกรโกวิท (แดง)วัดนาประดู่ เป็นพระคู่สวดได้ฉายา "ธมฺมภูโต" อยู่วัดนาประดู่ได้ 12 พรรษา จากนั้นย้ายมาจำพรรษาที่วัดทรายขาว จนได้เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะตำบลโคกโพธิ์ตราบจนมรณภาพ

สำหรับพระอาจารย์นองเป็นสหธรรมิกกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เคยร่วมสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเนื้อว่านเมื่อปี 2497 จนโด่งดังทั่วสารทิศ และต่อมาพระอาจารย์นองได้สร้างเครื่องรางของขลังที่ดังไปทั่วเมืองไทย คือตะกรุดนารายณ์แปลงรูปและพระเครื่องหลวงพ่อทวดเนื้อว่านฝังตะกรุด นอกจากนั้นแล้วพระอาจารย์นองยังเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งที่ได้รับการยกย่องชมเชยตลอดมา และเป็นพระอยู่ในนิกายมหานิกาย สิริรวมอายุถึงวันมรณภาพได้ 80 ปี 11 เดือน 60 พรรษา

ความสัมพันธ์กับอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ท่านเป็นสหธรรมิกกับท่านพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นทั้งกัลยาณมิตรเป็นศิษย์กับอาจารย์ต่อกัน เกื้อกูล เกื้อหนุนกันมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนวาระสุดท้ายของท่านอาจารย์ทิม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512

ทั้งพระอาจารย์ทิม และพระอาจารย์นอง เป็นศิษย์ร่วมสำนักวัดประดู่มาด้วยกันเมื่อพระอาจารย์ทิมมาอยู่วัดช้างให้ และพระอาจารย์นองไปอยู่วัดทรายขาว ก็ยังมีความสัมพันธ์ดีงามมาโดยตลอด กิจการใดของวัดช้างให้ ท่านจะเป็นผู้คอยช่วยเหลืออยู่ข้างกายพระอาจารย์ทิมทุกอย่าง ที่สำคัญ การสร้างพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 ถ้าจะกล่าวกันแล้ว ปฐมเหตุจริงๆ ก็มาจากท่านที่เป็นผู้ชักชวนพระอาจารย์ทิมให้สร้างพระหลวงพ่อทวด ตามที่ท่านได้เล่าให้ฟังเท่าที่จำได้คร่าวๆ คือ

ช่วงนั้น ท่านกับพระอาจารย์ทิม ขึ้นมากรุงเทพฯ และไปที่วัดระฆัง เพื่อที่จะไปเช่าบูชาพระสมเด็จของหลวงปู่นาค มาเพื่อให้คนทำบุญจะได้นำเงินไปสร้างโบสถ์วัดช้างให้ พกเงินขึ้นมาประมาณ 3,000 บาท ขณะที่กำลังจะขึ้นไปเช่าพระ ท่านบอกว่า "กูนึกยังไงก็ไม่รู้ สะกิดอาจารย์ทิม บอกว่า ท่านๆ ทำไมเราไม่กลับไปทำพระของเราเองล่ะ" "พระอะไร...?" พระอาจารย์ทิมถาม "ก็พระหลวงพ่อทวดไง" พระอาจารย์ทิมบอก "เออ...!! นั่นน่ะสิ" ทั้งสองท่านจึงได้เช่าบูชาพระสมเด็จหลวงปู่นาคม เพียงเล็กน้อยและพากันกลับปัตตานี

ปฐมเหตุตรงจุดนี้ คือกำเนิดของสุดยอดพระเครื่องเมืองใต้ หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปีพ.ศ.2497 อันเป็นอมตะตลอดกาล ส่วนคุณอนันต์ คณานุรักษ์ นั้น เป็นส่วนประกอบที่ช่วยเหลือให้การจัดสร้างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งคงเป็นเพราะบารมีของหลวงพ่อทวดที่บันดาลชักนำ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ คหบดีชาวปัตตานีให้มาเป็นกำลังสำคัญ

การจัดสร้างพระหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ปี พ.ศ.2497 ท่านจึงมีส่วนอย่างมากในทุกๆ ขั้นตอนการจัดสร้าง ฉะนั้น...ท่านจะรู้พิธีกรรม และเรื่องว่านดีที่สุด เมื่อท่านมาสร้างพระหลวงพ่อทวด ขึ้นเองจึงมีความขลังแ ละศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาโดยตลอด

เหตุการณ์ที่บ่งให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองพระอาจารย์ที่ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจและกินใจมาก ตามที่ท่านเล่าให้ฟังว่า

ก่อนที่อาจารย์ทิมจะไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ ท่านมาหาเราที่วัด สั่งเสียไว้หลายเรื่องฝากให้เราช่วยดูแลวัดช้างให้ ท่านหยิบขันน้ำมนต์ขึ้นมา ท่านจับประคองอยู่ด้านหนึ่งให้เราจับอีกด้านหนึ่ง แล้วท่านพูดว่า "ตั้งแต่คบกันมา คุณไม่เคยทำให้ผมเสียใจเลย คนอื่นยังมีตรงบ้าง คดบ้าง "เรา" ขออธิษฐาน บุญใดที่เคยทำร่วมกันมา และยังไม่เคยทำร่วมกันมาก็ดี ทั้งชาตินี้และอดีตชาติ ขออธิษฐาน เกลี่ยบุญให้เท่ากัน เพื่อจะได้เกิดทันกันทุกๆ ชาติไปจนถึงชาติสุดท้าย"

จากนั้นพระอาจารย์ทิมก็เข้าไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ และก็มรณภาพที่โรงพยาบาลกลางเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512 คำอธิษฐานนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่ เป็นอมตวาจาอย่างแท้จริง ได้ความรู้สึกถึงความผูกพันที่ท่านทั้งสองมีต่อกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอด ได้ร่วมสร้างตำนานอันมหัศจรรย์ ของหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ แผ่ออกไปทั่วทุกสารทิศ พระอาจาร์ทิม ถ้านับจาก พ.ศ.2497-2512 ก็เพียง 15 ปี แต่พระอาจารย์นองท่านใช้เวลาถึง 45 ปี (2497-2542)

ปัจจุบัน หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงของหลวงพ่อทวดดังไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีผู้คนนับถือไม่น้อยเช่นกัน

เรื่องความสัมพันธ์กับพระอาจารย์ทิมนั้น ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับ "ดีนอก" คือมีปัจจัยอื่นช่วยส่งเสริม แต่เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็คือ "ดีใน" นั่นเอง หมายถึง คุณลักษณะส่วนตัวของพระอาจารย์นอง สองสิ่งต้องคู่กันจึงจะสมบูรณ์ เมื่อดีก็ต้องดีทั้งนอก ดีทั้งใน

พระอาจารย์นอง ท่านยึดถือมาตลอดในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่เลือกว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ยากดีมีจน ท่านจะเป็นผู้ให้มาโดยตลอด ทั้งเรื่องสร้างโรงพยาบาลซื้ออุปกรณ์การแพทย์ สร้างโรงเรียน ทุนการศึกษา สร้างถนนหนทาง บริจาคทรัพย์ให้กับสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ ช่วยสร้างอุโบสถวัดต่างๆ แม้กระทั่งบริจาคเงินให้กับชาวอิสลามที่อยู่แถบ วัดทรายขาว ตลอดจนช่วยเหลือสงเคราะห์เรื่องต่างๆ จนได้รับการยอมรับนับถือจากชาวอิสลามเป็นจำนวนมาก

ในเรื่องของการบริจาคทรัพย์ซื้ออุปกรณ์การแพทย์นั้น ท่านบอกว่า สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้มากประโยชน์เกิดขึ้นทันที ด้วยการที่ท่านเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้งท่านจึงเห็นคุณประโยชน์ของอุปกรณ์การแพทย์ บางครั้งเวลาท่านอารมณ์ดีท่านจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ท่านเคยพูดว่า

"ตอนกูไปอยู่โรงพยาบาล กูก็เตรียมเงินสดไปด้วยตลอด แล้วถามหมอว่า ขาดอะไรบ้าง หมอบอกว่า ขาดไอ้นั่น ไอ้นี่ กูควักเงินสดให้ไปซื้อเลย ครั้งหลังๆ นี่ พอกูไปนอนโรงพยาบาล ตื่นขึ้นมามองซ้าย มองขวา มีชื่อ พระครูธรรมกิจโกศล ติดเต็มไปหมด" ท่านพูดเสร็จก็หัวเราะร่วนชอบใจใหญ่

ท่านเคยพูดให้ฟังเสมอว่า "คนที่เขาเดือดร้อนมาพึ่งเรา หากไม่เกิดวิสัยแล้ว เราช่วยได้ก็จะช่วย บางคนมาไม่มีเงิน ค่ารถ ค่ากิน เราก็ให้ไปเรื่องบุญ เรื่องทาน ใครทำใครก็ได้ไป บุญยิ่งทำก็ยิ่งได้บุญ ทานยิ่งให้ทานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กลับมามากยิ่งๆ ขึ้นเป็นการสั่งสมบารมีลดกิเลสลงไป"

จริงดั่งท่านว่า "ยิ่งทำก็ยิ่งได้ ยิ่งให้ก็ยิ่งมา" ธรรมะข้อนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับสังคมยุคปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะสังคมเราทุกวันนี้ มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกที ถ้าคนเรารู้จักคำว่าให้ รู้จักคำว่าพอ รู้จักเสียสละ เชื่อว่าสังคมจะดีขึ้นกว่านี้แน่นอน เรื่องทานบารมีเป็นธรรมะที่พระอาจารย์นอง ยึดปฏิบัติบำเพ็ญเพียรมาโดยตลอดชีวิตของท่าน ถือว่าเป็นคุณความดีในตัวท่านเอง แต่สามารถสร้างคุณานุประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาลท่านจึงเป็นที่รักเคารพของมหาชน

พระอาจารย์นองท่านดำรงชีวิตอยู่ในสมณเพศด้วยความเรียบง่าย กิน (ฉัน) ง่ายอยู่ง่ายไม่พิถีพิถัน วางเฉยในเรื่องยศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่มีความทะยานอยาก ท่านพัฒนาวัดทรายขาว จนมีความเจริญรุดหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน ชั่วระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ท่านสร้างวัดทรายขาว ให้งามสง่ากว่าวัดใดๆ ใน จ.ปัตตานี หรือแม้กระทั่งจังหวัดใกล้เคียง เงินที่นำไปสร้างทั้งหมดกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ล้วนแล้วแต่เป็นเงินที่มาจากการสร้างพระหลวงพ่อทวดทั้งสิ้น ท่านมิได้แตะต้องเงินทำบุญที่มีผู้บริจาคให้วัดแต่อย่างใด ปรากฏว่าหลังจากท่านมรณภาพ คณะกรรมการได้เคลียร์บัญชีทรัพย์สินในบัญชีต่างๆ เหลือเงินสดถึงกว่าสามสิบล้านบาท ทุกบัญชีท่านแยกแยะไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินอะไรบ้าง มีที่มาที่ไปอย่างไร หนี้สินใครบ้าง ท่านมีบัญชีทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักบริหารงานที่มีการจัดการที่ดีเยี่ยม







โดย: สยามรัฐ 27 พฤศจิกายน 2547

พระครูวิสัยโสภณ

พระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธัมมธโร)




พระครูวิสัยโสภณ หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในนามของอาจารย์ทิมนั้น เดิมชื่อนายทิม พรหมประดู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ณ บ้านนาประดู่ ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรของนายอินทองกับนางนุ่ม พรหมประดู่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๖ คนเมื่อท่านอายุได้ ๙ ขวบ บิดามารดาได้ฝากให้อยู่กับพระครูภัทรกรณ์โกวิท ซึ่งขณะนั้นยังเป็น พระแดง ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดนาประดู่ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดนาประดู่ ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ท่านได้บวชเป็นสามเณร




(ภาพ: อาจารย์ทิม ธัมมธโร ขณะกำลังบริกรรมคาถาในพิธีเททองหล่อพระเครื่องหลวงพ่อทวด ปี 2505
โดยมีนายอนันต์ คณานุรักษ์ ยืนอยู่ด้านหลัง, ภาพนี้ถ่ายโดยนายจำเริญ วัฒนายากร)


จากนั้นก็สึกออกมาช่วยพ่อแม่ทำนาจนอายุได้ ๒๐ ปี จึงบวชเป็นพระภิกษุที่วัดนาประดู่ โดยจำพรรษาที่วัดนาประดู่ ๒ พรรษา แล้วจึงย้ายไปอยู่ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม และต่อมาก็ได้ย้ายกลับมาเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดนาประดู่ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ซึ่งในตอนแรกยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดช้างให้กับวัดนาประดู่ เพราะท่านยังคงเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดนาประดู่ด้วย

ช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานี รถไฟสายใต้จากหาดใหญ่ไปสุไหงโก-ลก ต้องขนทหารและสัมภาระผ่านหน้าวัดช้างให้วันละหลายๆ เที่ยว และหลายๆ ขบวน ทำให้ประชาชนขวัญเสียหวาดกลัวภัยสงคราม พระครูวิสัยโสภณ หรืออาจารย์ทิม ต้องรับภาระหนัก คือต้องจัดหาอาหารและที่พักแก่ผู้ที่เดินทางผ่านวัดไม่เว้นแต่ละวัน นับเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่ต้น




(ภาพ: อาจารย์ทิม กับนายอนันต์ และนายสุนนท์ คณานุรักษ์ (นั่งขวามือของภาพ))


เมื่อครั้งที่ท่านไปอยู่ที่วัดช้างให้ใหม่ๆ นั้น วัดช้างให้อยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้างทรุดโทรม ท่านได้ริเริ่มตกแต่งสถูปที่บรรจุอัฐิหลวงปู่ทวดให้เป็นที่น่าเคารพบูชา ท่านได้ดำริที่จะสร้างพระอุโบสถ โดยท่านได้ร่วมกับนายอนันต์ คณานุรักษ์ จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวด โดยทำพิธปลุกเสกมีพระครูวิสัยโสภณ หรืออาจารย์ทิมเป็นประธานในพิธีและนั่งปรก ได้เงินจากผู้มีจิตศรัทธาที่มาเช่าพระเครื่องหลวงปู่ทวดได้นำเงินมาสร้างพระอุโบสถ และปรับปรุงบริเวณวัดช้างให้




(ภาพ: อาจารย์ทิม ธัมมธโร โดยมีนายอนันต์ คณานุรักษ์ ยืนอยู่ซ้ายมือของท่าน)


พระครูวิสัยโสภณได้เริ่มอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่หลอดอาหารตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ แม้ว่าพระครูวิสัยโสภณแห่งวัดช้างให้ได้มรณภาพไปนานแล้ว แต่สิ่งที่ท่านสร้างไว้อาทิเช่นพระอุโบสถ วิหารสำหรับประดิษฐานหลวงปู่ทวด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมาเคารพสักการะ สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ทวดที่ติดกับทางรถไฟสายใต้ กุฏิสำหรับเป็นที่อาศัยของพระเณร กุฏิเจ้าอาวาสวัดช้างให้ ศาลาการเปรียญตลอดถึงวัตถุต่างๆ ที่มีอยู่ในวัดช้างให้ โรงเรียนวัดช้างให้หลังคาทรงเรือนไทยเป็นตึก ๒ ชั้น ติดกับทางรถไฟหน้าวัด พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่กลางวัดช้างให้ ฯลฯ ล้วนสำเร็จด้วยความมุมานะของท่านพระครูวิสัยโสภ



โดย: หนังสือรวมเรื่องน่ารู้ ภาคใต้ โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๓๐), บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)

วัดช้างให้

วัดช้างให้ (วัดราษฎร์บูรณะ)




(จากซ้ายไปขวา) นายช่วง สิมศิริ, นายกวี จิตรกูล, นายอนันต์ คณานุรักษ์
, อาจารย์ทิม ธัมมธโร, นายสุนนท์ คณานุรักษ์, นายวิศิทฏ์ คณานุรักษ์ และนายชาติ สิมศิริ

วัดช้างให้ หมายความว่า ที่ดินสร้างวัดนี้ช้างบอกให้ เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งยืนนานประมาณ ๓๕๐ ปีเศษ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้มาแล้ว ๔ องค์ และทุกๆ องค์ปกครองวัดนี้อยู่ได้ไม่นาน มักจะมีอุปสรรคนานาประการ ถึงกับต้องจากไปหรือมรณะ เล่าต่อๆ กันมาว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะ อาถรรพ์วัดนี้แรงมาก เจ้าอาวาสผู้มีบุญบารมีน้อย จะไม่สามารถครองอยู่ได้ เหตุนี้วัดช้างให้จึงถูกทอดทิ้งให้รกร้างเป็นระยะหลายครั้งหลายหน ร้างลงแต่ละครั้งละหนเป็นเวลาห่างกันนานๆ ตั้งสิบๆ ปีถึงร้อยปีก็มี

ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร (ท่านพระครูวิสัยโสภณ) ได้เข้าครองเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างให้ เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ในขณะที่ท่านอาจารย์ทิมเข้ามาควบคุมการแผ้วถางป่า ในบริเวณวัดร้างนี้ต้องตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ๆ ขนาดคนโอบไม่รอบเสียหลายต้น นี่ก็แสดงให้รู้ว่าวัดร้างมานานมาก ต้นไม้จึงใหญ่โตขนาดนี้ เมื่อแผ้วถางป่าปราบพื้นที่ลงเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าวัดช้างให้เป็นพุทธภูมิที่เหมาะสม เป็นที่น่าอยู่อาศัยของสมณะผู้แสวงธรรมรักสงบ จึงได้มีพระภิกษุและสามเณรเข้ามาอาศัยจำพรรษาเรื่อยๆ มา




เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกทั่วประเทศไทยจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ รถไฟสายใต้ หาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ต้องทำการขนส่งทหารญี่ปุ่นและสัมภาระ ผ่านประตูวัดช้างให้วันละหลายๆ ครั้ง ประชาชนตื่นตกใจหวาดกลัวภัยสงคราม ไม่เป็นอันจะทำมาหากิน การบูรณะวัดช้างให้จึงหยุดชงักลงชั่วคราว (ท่านพระครูวิสัยโสภณ เข้ามาอยู่วัดช้างให้ประมาณ ๔ เดือน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒) หลังจากสงครามนี้สงบลงแล้วโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายยอมแพ้ ประชาชนชาวพุทธก็ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ส่วนพี่น้องชาวพุทธที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดก็ได้ร่วมมือร่วมใจกันสละแรงงานช่วยเหลือการบูรณะวัดต่อเติมจนเรียบร้อย

เมื่อการบูรณะวัดช้างให้สะอาดสอ้านตาขึ้นมากแล้ว ทางด้านสถูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุอัฐิของท่านช้างให้องค์แรกหรือหลวงพ่อทวดฯ ประดิษฐานอยู่ที่หน้าวัดนั้น ก็เป็นที่จูงใจของประชาชนหลายชาติหลายภาษาให้มาเคารพบูชา นำลาภสักการหลั่งไหลเข้าสู่วัดนี้เรื่อยๆ มา ท่านพระครูฯ จึงดำริที่จะสร้างพระอุโบสถไว้ เพื่อเป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา และจะได้เป็นที่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ในวัดได้ทำสังฆกรรมต่อไป ความจริงนั้นครั้งโบราณกาลมาวัดนี้เคยมีโบสถ์มาก่อนแล้ว แต่ชำรุดสลายตัวไปหมดเพราะกาลเวลา ที่ปรากฎให้เห็นก็เพียงหลักพัทธสีมา และเนินดินเป็นที่โบสถ์เก่าเท่านั้น ท่านพระครูจึงได้กำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ อันเป็นรากฐานของโบสถ์แห่งใหม่ ในวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้วขุดดินลงรากก่อกำแพงผนังโบสถ์ สืบต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ งานก่อสร้างสำเร็จลงเพียงกำแพงผนังโบสถ์โดยรอบเท่านั้น งานก่อสร้างก็ได้หยุดชงักลง ๘ - ๙ เดือน เพราะหมดเงินทุนที่จะใช้จ่ายต่อไป




ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๗ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด หรือท่านสมภารองค์แรกของวัดช้างให้ ได้ประทานนิมิตรฝันอันเป็นมงคลยิ่งแก่นายอนันต์ คณานุรักษ์ หรือผู้เขียน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ห่างไกลจากวัดประมาณ ๓๑ กิโลเมตร ให้ผู้เขียนมาจัดการสร้างพระเครื่องลางเป็นรูปพระภิกษุชราขึ้นแทนองค์ของท่าน เมื่อผู้เขียนได้นมัสการท่านพระครูวิสัยโสภณ และเตรียมงานสร้างพระพร้อมแล้ว ถึง ๑๙ มีนาคม ๒๔๙๗ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง ได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกเบ้าและพิมพ์พระเครื่องเรื่อยๆ มาทุกๆ วัน จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๙๗ พิมพ์พระเครื่องได้ ๖๔,๐๐๐ องค์ (จะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่เวลาจำกัดในพิธีปลุกเสก) ก็ต้องหยุดลง เพื่อเอาเวลาเตรียมงานพิธีปลุกเสกพระเครื่อง ตามที่หลวงพ่อทวดฯ กำหนดให้ท่านพระครูปฏิบัติ

ถึงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๗ ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง ได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกพระเครื่อง ณ เนินดินบริเวณโบสถ์เก่า โดยมีท่านพระครูวิสัยโสภณเป็นองค์ประธานในพิธีและนั่งปรก ได้อาราธนาอัญเชิญพระวิญญาณหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พร้อมด้วยวิญญาณหลวงพ่อสี หลวงพ่อทองและหลวงพ่อจันทร์ ซึ่งหลวงพ่อทั้งสามองค์นี้สิงสถิตย์อยู่ร่วมกับหลวงพ่อทวดฯ ในสถูปหน้าวัด ขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ขลังแก่พระเครื่องฯ นอกจากนั้นก็มีหลวงพ่อสงโฆสโก เจ้าอาวาสวัดพะโคะ เวลานี้ พระอุปัชฌาย์ดำ วัดศิลาลอย พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อาวุโส ณ วัดช้างให้ ร่วมพิธีปลุกเสกพระเครื่องเสร็จลงในเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันนั้น ท่านพระครูฯ พร้อมด้วยพระภิกษุอาวุโสและคณะกรรมการ มี นายอนันต์ คณานุรักษ์ (ผู้เขียน) นายชาติ สิมศิริ นายกวี จิตกูล นายวิศิษฐ์ คณานุรักษ์ นายวิทยา คณานุรักษ์ นายสุนนท์ คณานุรักษ์ และนายจำรูญ คณานุรักษ์ ได้ร่วมกันทำการแจกจ่ายพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ให้แก่ประชาชนผู้เลื่อมใสซึ่งมาคอยรอรับอยู่อย่างคับคั่งจนถึงเวลาเที่ยงคืน ปรากฏว่าในวันนั้นกรรมการได้รับเงินจากผู้ใจบุญโมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เป็นจำนวน ๑๔,๐๐๐ บาท

หลังจากนั้นมา ด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารหลวงพ่อทวดฯ ดลบันดาลให้พี่น้องหลายชาติหลายภาษา ร่วมสามัคคีสละทรัพย์โมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เรื่อยๆ มา งานก่อสร้างโบสถ์จึงมีกำลังดำเนินการต่อไปโดยมิได้หยุดยั้งจนถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๙ ได้จัดทำพิธียกช่อฟ้า และวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ พิธีผูกพัทธสีมา โบสถ์หลังนี้จึงสำเร็จสมบูรณ์ และพระภิกษุสงฆ์ได้อาศัยทำสังฆกรรมถึงเวลานี้ รวมค่าก่อสร้างประมาณ ๘ แสนบาท ขอให้พี่น้องทุกคนจงรับเอาส่วนกุศลจงทั่วๆ กันเทอญ




พี่น้องทั้งหลายผู้ใดที่ยังไม่มีพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ ไว้บูชา หรือท่านเคยมีแล้ว แต่หากสูญหายไป แต่ท่านก็ยังมีความเลื่อมใสในอภินิหารของท่านอยู่ เพื่อท่านจะได้ขอความคุ้มครองพิทักษ์รักษาให้แคล้วคลาดปลอดภัยนานาประการ ท่านจงระลึกถึงหลวงพ่อทวดฯ และอาราธนาคาถา "นะโมโพธิสัตว์โต อาคันติมายะ อิติภะคะวา" ในเวลาที่จะให้ท่านคุ้มครองและรักษาโรคภัยบางประการ ท่านจะได้รับผลเช่นเดียวกันกับท่านมีพระเครื่องรูปขององค์ท่านอยู่ประจำตัวเช่นเดียวกัน





โดย: นายอนันต์ คณานุรักษ์ - หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)




หลวงพ่อทวด ตอน๒

"เรื่อง หลวงพ่อทวด" (ตอนที่ ๒ ตอนจบ)

ตระกูลคณานุรักษ์ ทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง
ตระกูลคณานุรักษ์ ทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง

กาลนานมาปีหนึ่ง ในพระมหานครศรีอยุทธยาเกิดโรคระบาดขึ้นร้ายแรงเช่นอหิวาตกโรค ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย พระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมาก เพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ และทรงระลึกถึงพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ขึ้นได้ จึงตรัสสั่งให้ศรีธนญชัยไปนิมนต์ท่านเข้ามาเฝ้า ทรงปรารภในเรื่องทุกข์ร้อนของพลเมืองที่ได้รับทุกข์ยุคเข็ญด้วยโรคระบาดอยู่ขณะนี้ ท่านจึงทำพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปประพรมให้แก่ประชาชนทั่วพระนคร ปรากฏว่าโรคระบาดได้ทุเลาเหือดหายไปในไม่ช้า ประชาชนได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ในหลวงทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอันมาก ทรงเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านอย่างยิ่ง วันหนึ่งได้ทรงตรัสปรารภกับท่านว่า ต่อไปนี้หากพระคุณเจ้ามีความปรารถนาสิ่งอันใด ขอนิมนต์แจ้งให้ทราบความปรารถนานั้นๆ จะทรงพระราชทานถวาย ขอพระคุณเจ้าอย่าได้เกรงพระทัยเลย

การล่วงมานานประมาณว่า พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์มีวัยชราแล้ว วันหนึ่งท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงเกรงใจท่าน ไม่กล้านิมนต์ขอร้องแต่อย่างใด ได้พระราชทานอนุญาตตามความปรารถนาของท่าน

เมื่อพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์กลับภูมิลำเนาเดิมแล้ว ครั้งนั้นปรากฏมีหลักฐานว่าไว้ว่า ท่านเดินกลับทางบกธุดงค์โปรดสัตว์เรื่อยมาเป็นเวลาช้านาน จึงถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ ตามแนวทางที่ท่านเดินและพักแรมที่ใด ต่อมาภายหลังสถานที่ท่านพักแรมนั้นเกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพบูชามาถึงบัดนี้ คือ ปรากฏว่าขณะที่ท่านพักแรมอยู่ที่บ้านโกฏิในอำเภอปากพนัง เมื่อท่านเดินทางจากไปแล้ว ภายหลังประชาชนยังมีความเคารพเลื่อมใสท่านอยู่มาก จึงได้ชักชวนกันขุดดินพูนขึ้นเป็นเนิน ตรงกับที่ท่านพักแรมไว้เป็นที่ระลึก รอบๆ เนินดินนั้นจึงเป็นคูน้ำล้อมรอบเนิน และสถานที่แห่งนี้ต่อมาก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนถึงบัดนี้

เมื่อท่านเดินทางมาถึงหัวลำภูใหญ่ในอำเภอหัวไทรในเวลานี้ เป็นสถานที่มีหาดทรายขาวสะอาด ต้นลำภูแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นเย็นสบาย ท่านจึงพักแรมอาศัยใต้ต้นลำภูนั้น ทำสมาธิวิปัสสนา ประชาชนในถิ่นนั้นได้พร้อมใจกันมากราบไหว้บูชา และฟังท่านแสดงธรรมอันเป็นหลักควรปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ต่อมาประชาชนเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้า จึงพร้อมใจกันสร้างศาลาถวายขึ้นหลังหนึ่ง และท่านได้จากสถานที่นี้ไปแล้ว ต่อมาภายหลังไม่นานศาลาหลังนี้เกิดเป็นศาลาศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนชาวบ้านถิ่นนั้นและถิ่นใกล้เคียงจึงชักชวนกันมาทำพิธีสมโภชศาลาศักดิ์สิทธิ์หลังนั้นเป็นการระลึกถึงท่าน ถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันพิธี ชักชวนกันทำขนมโคมาบวงสรวงสมโภชทุกๆ วันพฤหัสฯ เป็นประจำจนเป็นประเพณีมาจนกระทั่งบัดนี้

เมื่อท่านจากหัวลำภูใหญ่ เดินทางมาถึงบางค้อน ท่านได้หยุดพักแรมพอหายเมื่อยล้า แล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ หลังจากที่ท่านจากไปแล้วสถานที่บางค้อนก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปรากฏมาจนบัดนี้

พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ หรือพระภิกษุปู่กลับถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะครั้งนี้ ประชาชนชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ ประชาชนได้พร้อมกันขนานนามท่านขึ้นใหม่เรียกกันว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ" ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ ต่อมาวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นชื่อเดิมก็ถูกเรียกย่อๆ เสียใหม่ว่า "วัดพะโคะ" จนบัดนี้

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ นี้ มีพระอรหันต์ ๓ องค์ เป็นผู้สร้างขึ้น คือ

๑. พระนาไรมุ้ย
๒. พระมหาอโนมทัสสี
๓. พระธรรมกาวา

ต่อมาพระมหาอโนมทัสสี ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระบรมศาสดากลับมา พระยาธรรมรังคัล เจ้าเมืองจะทิ้งพระในสมัยนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธา จัดการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่สูงถึง ๒๐ วา ขึ้นถวายแล้วทำพิธีสมโภชบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในเจดีย์องค์นั้น และคงมีปรากฏอยู่จนบัดนี้

ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ได้หยุดพักผ่อนนานพอสมควร ท่านได้ตรวจดูเห็นปูชนียสถานและกุฏิวิหารเก่าแก่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ควรจะบูรณะซ่อมแซมเสียใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาอีกวาระหนึ่ง (ในตำนานมิได้กล่าวไว้ว่าท่านไปทางบกหรือไปทางน้ำ) เมื่อได้สนทนาถามสุขทุกข์กันแล้ว ท่านก็ทูลถวายพระพรพระองค์ ตามความปรารถนาที่จะบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดให้พระองค์ทรงทราบ ครั้นได้ทรงทราบจุดประสงค์ ก็ทรงศรัทธาเลื่อมใสร่วมอนุโมทนาด้วย จึงตรัสสั่งให้พระเอกาทศรถ พระเจ้าลูกยาเธอ จัดการเบิกเงินในท้องพระคลังหลวงมอบถวาย และจัดหาศิลาแลงบรรทุกเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยนายช่างหลวงหลายนาย มอบหมายให้ท่านนำกลับไปดำเนินงานตามความปรารถนา ปรากฏว่าท่านได้ทำการบูรณะซ่อมแซมและปลูกสร้าง (วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ) อยู่หลายปีจึงสำเร็จบริบูรณ์

สมเด็จเจ้าพะโคะ เข้าไปเฝ้าพระมหาธรรมราชายังกรุงศรีอยุทธยาครั้งนี้ ปรากฏว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสเคารพต่อท่านเป็นยิ่งนัก ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานที่ดินนาถวายแก่ท่านเป็นกัลปนา ขึ้นแก่วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ จำนวน ๙๐ ฟ้อน พร้อมด้วยประชาราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตที่ดินนั้น มีอาณาเขตติดต่อ โดยถือเอาวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะเป็นศูนย์กลาง ดังนี้

๑. ทางทิศเหนือ ตั้งแต่แหลมชุมพุกเข้ามา
๒. ทางทิศใต้ ตั้งแต่แหลมสนเข้ามา
๓. ทางทิศตะวันออก จดทะเลจีนเข้ามา
๔. ทางทิศตะวันตก จดทะเลสาปเข้ามา

ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะ กลับจากกรุงศรีอยุทธยา ได้ประจำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่าท่านมีอายุกาลถึง ๘๐ ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัว ไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น ๓ คด ชาวบ้านเรียกว่าไม้เท้า ๓ คด ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน และขณะที่ท่านเดินเล่นรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเรียบชายฝั่งมา พวกโจรสลัดจีนเห็นสมเด็จเดินอยู่ คิดเห็นว่าเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเข้าขึ้นฝั่งนำเอาท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือเรือลำนั้นจะแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนได้พยายามแก้ไขจนหมดความสามารถ เรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ที่สุดน้ำจืดที่ลำเรียงมาบริโภคในเรือก็ได้หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหาร พากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยการกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จท่านสังเกตเห็นเหตุการณ์ ความเดือดร้อนของพวกเรือถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกาบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล ทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกจีนไป เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้ว ก็สั่งให้พวกโจรจีนตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลอง เพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืด เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรสลัดจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษ แล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป

เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่ง ท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอาไม้เท้า ๓ คดพิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนสภาพจากเดิมกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่า ต้นยางไม้เท้า ยังมีปรากฏอยู่ถึงเวลานี้

สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ครองสมณเพศประจำพรรษาอยู่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฏร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนได้ตลอดมา


ตอนนี้ได้รับความกรุณาจากพระอุปัชฌาย์ดำ ดิสฺสโร สำนักวัดศิลาลอย อำเภอจะทิ้งพระ เป็นผู้เล่าตามนิยายต่อกันมา โดยท่านพระครูวิริยานุรักษ์ วัดตานีนรสโมสร บันทึกมาให้ผู้เขียน ความดังต่อไปนี้

ในสมัยสมเด็จเจ้าพะโคะ พำนักอยู่วัดพะโคะครั้งนั้น ยังมีสามเณรน้อยรูปหนึ่ง เข้าใจว่าคงอาศัยอยู่วัดใดวัดหนึ่งในท้องที่อำเภอหาดใหญ่เวลานี้ สามเณรรูปนี้ได้บวชมาแต่อายุน้อยๆ ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมีความขยันหมั่นเพียร ก่อแต่การกุศลในพระพุทธศาสนา และตั้งจิตอธิษฐานจะขอพบพระศรีอริยะอย่างแรงกล้า อยู่มาคืนวันหนึ่งมีคนแก่ถือดอกไม้เดินเข้ามาหา แล้วประเคนดอกไม้ส่งให้แล้วบอกว่า นี่เป็นดอกไม้ทิพย์ไม่รู้จักร่วงโรย พร้อมกับกล่าวว่า พระศรีอริยะโพธิสัตว์นั้น ขณะนี้ได้จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์เพื่อโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา สามเณรเจ้าจงถือดอกไม้ทิพย์นี้ออกค้นหาเถิด หากผู้ใดรู้จักกำเนิดของดอกไม้นี้แล้ว ผู้นั้นแหละเป็นองค์พระศรีอริยะที่จุติมา เจ้าจงพยายามเที่ยวค้นหาคงจะพบ เมื่อกล่าวจบแล้วคนแก่นั้นก็อันตรธานหายไปทันที

สามเณรน้อยมีความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก วันรุ่งเช้าจึงเข้ากราบลาสมภารเจ้าอาวาส ถือดอกไม้ทิพย์เดินออกจากวัดไป สามเณรเดินทางตรากตรำลำบากไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ก็ไม่มีใครทักถามถึงดอกไม้ทิพย์ที่ตนถืออยู่นั้นเลย แต่สามเณรก็พยายามอดทนต่อความเหนื่อยยาก ต้องตากแดดกรำฝนไปเป็นเวลาช้านา

วันหนึ่งต่อมา สามเณรน้อยเดินทางเข้าเขตวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ ในเวลาใกล้จะมืดค่ำเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงส่องรัศมีจ้าไปทั่วท้องฟ้า และเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ลงทำสังฆกรรมในโบสถ์ สามเณรถือดอกไม้ทิพย์ เดินเข้าไปยืนอยู่ริมประตูโบสถ์ รอคอยพระสงฆ์ที่จะมาลงอุโบสถ พอถึงเวลา พระภิกษุทั้งหลายก็เดินทะยอยกันเข้าโบสถ์ ผ่านหน้าสามเณรไปจนหมด ไม่มีพระภิกษุองค์ใดทักถามสามเณรเลย

เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งที่ในโบสถ์เรียบร้อยแล้ว สามเณรจึงเดินเข้าไปนมัสการถามพระสงฆ์เหล่านั้นว่า วันนี้พระมาลงอุโบสถหมดทุกองค์แล้วหรือ พระภิกษุตอบว่ายังมีสมเด็จอยู่อีกองค์วันนี้ไม่มาลงอุโบสถ สามเณรทราบดังนั้น ก็กราบลาพระสงฆ์เหล่านั้น เดินออกจากโบสถ์มุ่งตรงไปยังกุฏิของสมเด็จเจ้าฯ ทันที ครั้นถึง สามเณรก็คลานเข้าไปใกล้ก้มกราบนมัสการท่านอยู่ตรงหน้าสมเด็จเจ้าฯ ได้ประสพดอกไม้ในมือของสามเณรถืออยู่ จึงถามว่า สามเณร นั่นดอกมณฑาทิพย์ เป็นดอกไม้เมืองสวรรค์ ผู้ใดให้เจ้ามา สามเณรรู้แจ้งใจตามที่นิมิต จึงคลานเข้าไปใกล้ก้มลงกราบที่ฝ่าเท้า แล้วประเคนถวายดอกไม้ทิพย์นั้นแก่สมเด็จฯ ทันที เมื่อสมเด็จเจ้าฯ รับประเคนดอกไม้ทิพย์จากสามเณรน้อยแล้ว ท่านได้สงบอารมณ์อยู่ชั่วครู่ มิได้พูดจาประการใด แล้วลุกขึ้นเรียกสามเณรเดินตรงเข้าในกุฏิปิดประตูลงกลอน และเงียบหายไปในคืนนั้น มิได้ร่องรอยแต่อย่างใดเหลือไว้ให้พิสูจน์ จนเวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้ ประมาณสามร้อยปีแล้ว

การหายตัวไปของสมเด็จเจ้าพะโคะครั้งนั้น ประชาชนเล่าลือกันว่า ท่านได้สำเร็จสู่สวรรค์ไปเสียแล้ว ด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารท่านแรงกล้า ตามที่กล่าวเล่าลือกันเช่นนั้น เพราะมีเหตุอัศจรรย์ปรากฏขึ้นในคืนนั้นว่า บนอากาศบริเวณวัดพะโคะ ได้มีดวงไฟโตขนาดเท่าดวงไต้ ส่องรัศมีสีต่างๆ เป็นปริมณฑล ดังพระจันทร์ทรงกลดลอยวนเวียนรอบบริเวณวัดพะโคะ ส่องรัศมีสว่างจ้าไปทั่วบริเวณวัด เมื่อดวงไฟดวงนั้นลอยวนเวียนอยู่ครบสามรอบแล้ว ลอยเคลื่อนไปทางทิศอาคเนย์ เงียบหายมาจนกระทั่งบัดนี้

วันรุ่งเช้าประชาชนมาร่วมประชุมกันที่วัด และต่างคนต่างก็เข้าใจว่าสมเด็จเจ้าฯ ท่านสำเร็จสู่สวรรค์ไป จึงได้พากันพนมมือขึ้นเหนือศีรษะพร้อมกับเปล่งเสียงว่า สมเด็จเจ้าพะโคะโล่ไปเสียแล้วเจ้าข้าเอย

เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะโล่หายไปจากวัดพะโคะครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฯ ท่านได้ทิ้งของสำคัญไว้ให้เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตลอดมาคือ


๑. ดวงแก้วที่พระยางูใหญ่ให้ ครั้งเป็นทารกอยู่ในเปล ๑ ดวง และสมภารทุกๆ องค์ของวัดพะโคะได้เก็บรักษาไว้จนถึงบัดนี้ ปรากฏว่าแก้วดวงนี้ไม่มีใครกล้านำออกจากบริเวณวัดพะโคะ เพราะเกรงจะเกิดภัย

๒. ก่อนที่สมเด็จเจ้าฯ จะโล่หายไป ปรากฏว่าท่านได้ขึ้นไปทำสมาธิอยู่บนชะง่อนผาบนภูเขาบาท ได้เอาเท้าซ้ายเหยียบลงบนลาดผาลึกเป็นรอยเท้า เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนมาจนกระทั่งบัดนี้ (ท่านพระครูวิสัยโสภณ วัดช้างให้ ได้ไปนมัสการมาแล้ว)


นิยายเรื่องนี้ได้รับความกรุณาจาก ท่านพระครูวิสัยโสภณ (ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดราษฎรบูรณะ (วัดช้างให้) ข้าพเจ้าบันทึกเรียบเรียงและเพิ่มเติมตามที่ได้สืบทราบมาดังต่อไปนี้

สมัยที่สมเด็จเจ้าพะโคะ โล่หายไปจากวัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา ครั้งนั้นได้มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งปรากฏตัวขึ้นที่เมืองรัฐไทรบุรีเวลานี้ พระภิกษุรูปนี้เป็นปราชญ์ทางธรรม และเชี่ยวชาญทางอิทธิอภินิหารเป็นยอดเยี่ยม ชาวเมืองไทรบุรีมีความเคารพเลื่อมใสมาก ซึ่งสมัยนั้นคนมะลายูในเมืองไทรบุรีนับถือศาสนาพุทธ ต่อมาท่านก็ได้เป็นสมภารเจ้าวัดแห่งหนึ่งในเมืองนั้น

มีเรื่องชวนคิดอยู่ว่า พระภิกษุชรารูปนี้ไม่มีประชาชนคนใดจะทราบได้ว่า ท่านชื่ออย่างไร ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครซักถาม จึงพากันขนานนามเรียกกันว่า "ท่านลังกา องค์ท่านดำ" ท่านปกครองวัดด้วนอำนาจธรรมและอภินิหารอย่างยอดเยี่ยม เป็นที่พึ่งทางธรรมปฏิบัติและการเจ็บไข้ได้ทุกข์ของประชาชน ด้วยเมตตาธรรม ประชาชนเพิ่มความเคารพเลื่อมใสท่านตลอดถึงพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรีสมัยนั้น และท่านมีความสุขตลอดมา (ท่านลังกาองค์นี้จะเป็นสมเด็จเจ้าพะโคะใช่หรือไม่ ขอให้อ่านต่อไป)

เมื่อข้าพเจ้าผู้เขียนยังหนุ่มๆ หรือประมาณ ๔๕ ปีมาแล้ว ได้อ่านหนังสือตำนานเมืองปัตตานี ซึ่งรวบรวมโดยคุณพระศรีบุรีรัฐ (สิทธิ์ ณ สงขลา) นายอำเภอชั้นลายครามของอำเภอยะรัง เรียบเรียง มีข้อความตอนหนึ่งว่า สมัยนั้นพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิดีสร้างเมืองให้เจ๊ะสิตี น้องสาวครอบครอง เมื่อโหรหาฤกษ์ยามดีได้เวลา ท่านเจ้าเมืองก็เสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างตัวสำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกเดินป่า หรือเรียกว่าช้างอุปการ เพื่อหาที่ชัยภูมิดีสร้างเมือง ท่านเจ้าเมืองก็ยกพลบริวารเดินตามหลังช้างนั้นไปเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งช้างได้เดินไปหยุดอยู่ ณ ที่ป่าแห่งหนึ่ง (ที่วัดช้างให้เวลานี้) แล้วเดินวนเวียนร้องขึ้น ๓ ครั้ง พระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตที่ดีจะสร้างเมือง ณ ที่ตรงนี้ แต่น้องสาวตรวจดูแล้วไม่ชอบ พี่ชายก็อธิษฐานให้ช้างดำเนินหาที่ใหม่ต่อไป ได้เดินทางรอนแรมอีกหลายวัน เวลาตกเย็นวันหนึ่งก็หยุดพักพลบริวาร ทางน้องสาวถือโอกาสออกจากที่พักเดินเล่น บังเอิญขณะนั้นมีกระจงสีขาวผ่องตัวหนึ่ง วิ่งผ่านหน้านางไป นางอยากจะได้กระจงขาวตัวนั้น จึงชวนพวกพี่เลี้ยงวิ่งไล่ล้อมจับกระจงตัวนั้น ได้วิ่งวกไปเวียนมาบนเนินทรายอันขาวสะอาดริมทะเล (ที่ตำบลกิเซะเวลานี้) ทันใดนั้นกระจงก็ได้อันตรธานหายไป นางเจ๊ะสิตีรู้สึกชอบตรงที่นี้มาก จึงขอให้พี่ชายสร้างเมืองให้

เมื่อพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาว และมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชื่อเมืองนี้ว่า เมืองปะตานี (ปัตตานี) ขณะนั้นพระยาแก้มดำเดินทางกลับมาถึงภูมิประเทศที่ช้างบอกให้ครั้งแรก ก็รู้สึกเสียดายสถานที่ จึงตกลงใจหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่า และปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า วัดช้างให้ มาจนบัดนี้ ต่อมาพระยาแก้มดำ ก็ได้มอบถวายวัดช้างให้แก่ท่านลังกาครอบครองอีกวัดหนึ่ง

ผู้เขียนขอกล่าวนอกเรื่องเพียงเล็กน้อย เพื่อผู้คนที่ยังไม่ทราบว่า สมัยโบราณกาลนานมานั้น คนมลายูนับถือศาสนาพุทธ พระยาแก้มดำคนมลายู จึงได้สร้างวัดช้างให้ขึ้น ผู้เขียนจึงขออ้างหนังสือของพระยารัตนภักดี ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ปัญหาดินแดนไทยกับมลายู ซึ่งท่านพิมพ์แจกในการกุศล หน้า ๘ บรรทัดที่ ๑๖ ในหนังสือนั้นกล่าวอ้างตามประวัติศาสตร์ไว้ว่า พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์ครองกรุงศรีวิชัยแห่งปาเล็มบัง มีอานุภาพแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงแหลมมลายู ปกครองแผ่นดินส่วนหนึ่งถึงอำเภอไชยา ได้นำลัทธิพระพุทธศาสนาเข้ามาสั่งสอนในแหลมมลายู และได้ก่อสร้างปูชนีย์ฯ ทางพระพุทธศาสนาไว้หลายแห่ง ซึ่งยังปรากฏอยู่บัดนี้

ตามประวัติศาสตร์มลายูกล่าวว่า มีผู้พบศิลาจารึกแผ่นหนึ่งที่นครศรีธรรมราช จารึกว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ เจ้าเมืองศรีวิชัยได้มาก่อพระเจดีย์องค์หนึ่งที่นครศรีธรรมราช และที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งเกี่ยวกับโบราณวัตถุ คือพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำแห่งภูเขา (วัดหน้าถ้ำ) ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา คาดคะเนว่าได้สร้างไว้ในสมัยพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ระหว่าง พ.ศ. ๑๓๑๘ - ๑๔๐๐ ต่อมาก็ได้ปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม ซึ่งยังคงปรากฏอยู่จนกระทั่งบัดนี้ องค์พระยาวถึง ๘๑ ฟุต ๑ นิ้ว ขนาดใหญ่วัดโดยรอบองค์พระ ๓๕ ฟุต และตามตำนานของคุณพระศรีบุรีรัฐกล่าวไว้ว่า สมัยหลายร้อยปีมาแล้ว คนมลายูนับถือศาสนาพุทธ แต่ได้มาเปลี่ยนนับถือศาสนาอิสลามเสียภายหลัง ผู้เขียนได้อ้างตำนานของท่านผู้มีเกียรติทั้งสองมายืนยันพอสมควรแล้ว ก็ขอย้อนกลับไปวัดช้างให้อีก

ทำให้ชวนคิดว่า วัดที่ท่านลังกาอยู่ถึงเมืองไทรบุรี ระยะทางที่จะมาวัดช้างให้ก็ไกลมาก ทางเดินก็มีแต่ป่าและภูเขาแสนจะทุรกันดาร ท่านลังกามีวัยชราภาพมากแล้วจะเดินไปเดินมาไหวหรือ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆ กันมาว่า ท่านลังกาเดินทางไปมาระหว่างวัดทั้งสองนี้เดินทางเวลาแรมเดือนแบบธุดงค์ ขณะที่ท่านเดินทางนั้นพบที่ใดเหมาะก็พักแรมหาความวิเวก เพื่อทำสมาธิภาวนา ใช้เวลาพักนานๆ เช่นภูเขาถ้ำหลอด ในกิ่งอำเภอสะบ้าย้อย ก็ปรากฏว่ามีสิ่งที่ควรเชื่อถือได้ว่า ท่านเป็นผู้ทำไว้แต่ครั้งเดินทางพักแรม จากนั้นก็ปรากฏอยู่บนเพิงหินบนภูเขาตังเกียบ เทือกภูเขาน้ำตกทรายขาว ทางทิศตะวันออกของลำธารน้ำตก มีพระพุทธรูปแกะด้วยไม้ตำเสาแบบพระยืนสององค์ ชาวบ้านตำบลทรายขาวเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า หลวงพ่อตังเกียบเหยียบน้ำทะเลจืด เขาคาดคะเนกันว่าพระพุทธรูปสององค์นี้ท่านลังกาเป็นผู้สร้างสมัยที่เดินทางและอาศัยพักอยู่ หลวงพ่อสององค์นี้เล่าลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก และเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านในถิ่นนั้นมาถึงบัดนี้ (ผู้เขียนได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว)

พระภิกษุชราองค์นี้ ท่านอยู่เมืองไทรบุรี เขาเรียกว่าท่านลังกา เมื่อท่านมาอยู่วัดช้างให้ ชาวบ้านเรียกว่าท่านช้างให้ เป็นเช่นนี้ตลอดมา

ขณะที่ท่านลังกาพำนักอยู่ที่วัดในเมืองไทรบุรี วันหนึ่งอุบาสกอุบาสิกาและลูกศิษย์อยู่พร้อมหน้า ท่านได้พูดขึ้นในกลางชุมนุมนั้นว่า ถ้าท่านมรณภาพเมื่อใดขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย และขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเน่าไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นจงเอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ ต่อไปข้างหน้าจะเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่มาไม่นานเท่าไรก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา คณะศิษย์ผู้เคารพในตัวท่านก็ได้จัดการตามที่ท่านสั่งโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อทำการฌาปนกิจศพท่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะศิษย์ผู้ไปส่งได้ขอแบ่งเอาอัฐิของท่านแต่ส่วนน้อยนำกลับไปทำสถูปที่วัด ณ เมืองไทรบุรี ไว้เป็นที่เคารพบูชา ตลอดมาจนบัดนี้


เรื่องสมเด็จเจ้าพะโคะ กับท่านช้างให้ หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดนี้ มีปัญหาว่า จะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ ตำนานโบราณก็มิได้กล่าวไว้ แต่ผู้เขียนคาดคะเนตามนิมิตต่างๆ เชื่อว่าเป็นพระองค์เดียวกัน คือสมัยท่านมีชีวิตเรียกชื่อท่านหลายชื่อ เช่น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ และ ท่านลังกา ท่านช้างให้ แต่เมื่อท่านมรณภาพแล้ว เรียกเขื่อนหรือสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิของท่านว่า "เขื่อนท่านช้างให้" แต่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ผู้เขียนได้สร้างพระเครื่องขึ้นต่างองค์ท่าน ให้ชื่อว่า ท่านช้างให้ แต่ท่านไม่เอา ท่านบอกให้ชื่อว่า "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ดังมีเรื่องกล่าวต่อไปนี้

ก่อนที่เขื่อน หรือ สถูปจะปรากฏความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นครั้งแรก เล่าต่อๆ กันมาว่า มีเด็กชายลูกชาวบ้านคนหนึ่ง พ่อเขาไล่ตี เด็กนั้นวิ่งหนีเข้าไปในบริเวณวัดช้างให้แล้วหายตัวไป ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง เมื่อพ่อของเด็กไล่ตามเข้าไปในวัดก็มิได้เห็นตัวเด็ก เขาค้นหาจนอ่อนใจก็ไม่พบ จึงกลับบ้าน ชวนเพื่อนบ้านช่วยกันค้นหา ขณะพวกชาวบ้านผ่านเข้าเขตวัด ก็เห็นเด็กนั้นเดินยิ้มเข้ามาหาและหัวเราะพูดขึ้นว่า พ่อของมันดุร้ายไล่ทุบตีลูกไม่มีความสงสาร กูเห็นแล้วอดสงสารไม่ได้จึงเอามันไปซ่อนไว้ พวกชาวบ้านก็ตื่นตกงกงัน เพราะเด็กนั้นพูดแปลกหูผู้ฟัง เป็นเสียงของคนแก่ แต่เด็กพูดต่อไปว่า พวกสูไม่รู้จักกูหรือ กูชื่อว่าท่านเหยียบน้ำทะเลจืด ผู้ศักดิ์สิทธิ์เจ้าของเขื่อนนี้ (สถูป) พวกสูจะลองดีก็จงเอาน้ำเกลือใส่อ่างมากูจะทำให้ดู มีชาวบ้านผู้หนึ่งปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เด็กชายนั้นก็ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำเกลือในอ่างทันที และบอกให้ชาวบ้านชิมน้ำเกลือนั้นดู ได้ประจักษ์ว่า น้ำนั้นมีรสจืดเป็นน้ำบ่อ เป็นที่อัศจรรย์นัก เด็กนั้นพูดอีกว่า พวกสูยังไม่เชื่อกูก็ให้ก่อไฟขึ้น ชาวบ้านก็ทำตาม ขณะกองไฟลุกโชนเป็นถ่านแดงดีแล้ว เด็กประทับทรงท่านเหยียบน้ำทะเลจืดก็กระโดดเข้าไปยืนอยู่ในกลางกองไฟอันร้อนแรง ยิ้มแล้วถามว่า สูเชื่อหรือยัง พ่อของเด็กตกใจ เกรงลูกจะเป็นอันตราย จึงก้มลงกราบไหว้ขอโทษ เด็กนั้นจึงเดินออกจากกองไฟเป็นปกติ

ครั้นท่านพระครูวิสัยโสภณ (ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เข้ามาครองวัดช้างให้ใหม่ๆ ท่านข้องใจเรื่องวัดของเดิม เพราะถามชาวบ้านไม่มีใครรู้ คืนวันหนึ่งท่านฝันว่า พบคนแก่ยืนอยู่กลางลานวัด ท่านถามถึงเขตวัดตามความข้องใจ คนแก่นั้นบอกว่า ให้ไปถามท่านเหยียบน้ำทะเลจืดในเขื่อน คนแก่จึงนำท่านพระครูฯ ไป เห็นพระภิกษุผู้เฒ่าเดินออกมาจากในเขื่อนสามองค์ ปรากฏว่า ๑. หลวงพ่อสี ๒. หลวงพ่อทอง ๓. หลวงพ่อจันทร์ องค์หลังสุดถือไม้เท้าใหญ่ ๓ คด เดินยันออกมางกงันเพราะความชรามากกว่าองค์ใดๆ คนแก่จึงบอกว่าองค์นี้แหละ ท่านเหยียบน้ำทะเลจืด ท่านจึงเอาแขนกอดคอท่านพระครูฯ นำเดินชี้เขตวัดเก่าให้ทราบทั้ง ๔ ทิศ ตลอดถึงเนินดินซึ่งเป็นโบสถ์โบราณ และบันดาลให้ท่านอาจารย์ฯ ได้เห็นวัตถุต่างๆ ในหลุมนิมิตซึ่งเป็นของไม่มีค่า เช่นพระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ เมื่อจะกลับเข้าไปในเขื่อน ท่านได้สั่งว่าต้องการอะไรให้บอก แล้วเข้าในเขื่อนหายไป

"คำว่าเอาอะไรให้บอก คำนี้สำคัญมาก คราวต่อมาโบสถ์ก็สำเร็จ พระเครื่องก็ศักดิ์สิทธิ์"

โดย: นายอนันต์ คณานุรักษ์ - หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

หลวงพ่อทวด ตอน๑

"เรื่อง หลวงพ่อทวด" (ตอนที่ ๑)




เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วหัวเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย เล่าลือกันมาว่าทุกๆ สมัย เกิดมีพระภิกษุสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จมาถึง ๔ องค์ด้วยกันคือ

๑. สมเด็จเจ้าเกาะย
๒. สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่
๓. สมเด็จเจ้าจอมทอ
๔. สมเด็จเจ้าพะโคะ

แต่หนังสือนี้ ขอกล่าวเฉพาะตำนานสมเด็จเจ้าพะโคะโดยตรง ตามตำนานกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะองค์นี้ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชมุณีสามีรามคุณูปมาจารย์ จากสมเด็จพระมหาธรรมราชาสมัยพระองค์ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะ ชาตะ วันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๒๕ บิดาชื่อหู มารดาชื่อนางจันทร์ มีอายุมากแล้วจึงคลอดบุตรเป็นชายชื่อเจ้าปู่ และได้คลอดบุตรคนนี้ที่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระ (อ. จะทิ้งพระ จ. สงขลา เวลานี้)

ตาหู นางจันทร์ เป็นคนยากจน ได้อาศัยอยู่กับคฤหบดีผู้หนึ่งไม่ปรากฏนาม สองสามีภริยาเป็นผู้มั่นอยู่ในศีลธรรม เมื่อนางจันทร์ออกจากการอยู่ไฟ เนื่องในการคลอดบุตรแล้ว วันหนึ่งนางจันทร์อุ้มลูกน้อยพร้อมด้วยสามีออกไปทุ่งนา เพื่อช่วยเก็บเกี่ยวข้าวให้แก่เจ้าของบ้านที่พลอยอาศัย ครั้นถึงทุ่งนาได้เอาผ้าผูกกับต้นเหม้าและต้นหว้าซึ่งขึ้นอยู่ใกล้กัน ทำเป็นเปลให้ลูกนอน แล้วพากันลงนาเก็บเกี่ยวข้าวต่อไป

ขณะสองสามีภริยาเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ชั่วครู่ นางจันทร์เป็นห่วงลูก ได้เหลียวมามองที่เปล ปรากฏว่ามีงูบองตัวโตผิดปกติ ได้ขดตัวรวบรัดเปลที่เจ้าปู่นอน สองสามีภริยาตกใจร้องหวีดโวยวายขึ้น เพื่อนชาวนาที่เกี่ยวข้าวอยู่ใกล้เคียงก็รีบพากันวิ่งมาดู แต่ก็ไม่มีใครสามารถช่วยอะไรได้ งูใหญ่ตัวนั้นเห็นคนเข้าใกล้ก็ชูศีรษะสูงขึ้นส่งเสียงขู่คำรามดังอย่างน่ากลัว จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้เปลนั้นเลย

ฝ่ายนายหูนางจันทร์ผู้มั่นอยู่ในบุญกุศล ยืนนิ่งพินิจพิจารณาอยู่ ปรากฏว่างูใหญ่ตัวนั้นมิได้ทำอันตรายแก่เด็กบุตรน้อยของตนเลย จึงเกิดความสงสัยว่างูบองใหญ่ตัวนี้น่าจะเกิดจากเทพนิมิตบันดาล คิดดังนั้นแล้วก็พากันหาดอกไม้ และเก็บรวงข้าวเผาเป็นข้าวตอกนำมาบูชา และกราบไหว้งูใหญ่ พร้อมด้วยกล่าวคำสัตย์อธิษฐาน ขอให้ลูกน้อยปลอดภัย ในชั่วครู่นั้นงูใหญ่ก็คลายขนดลำตัวออกจากเปล อันตรธานหายไปทันที

นายหูนางจันทร์และเพื่อนพากันเข้าไปดูทารกที่ในเปล ปรากฏว่าเจ้าปู่ยังนอนหลับเป็นปกติอยู่ แต่มีแก้วดวงหนึ่งวางอยู่ที่คอในที่ลุ่มใต้ลูกกระเดือก แก้วดวงนั้นมีสีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี สองสามีภริยาจึงเก็บรักษาไว้ คหบดีเจ้าของบ้านทราบความ จึงขอแก้วดวงนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ ตาหูนางจันทร์ก็จำใจมอบให้คหบดีผู้นั้น เมื่อได้แก้วพระยางูมาไว้เป็นสมบัติของตนแล้วก็รู้สึกพอใจ

ต่อมาไม่นานได้เกิดการวิปริต ให้ความเจ็บไข้ได้ทุกข์แก่คหบดี และครอบครัวขึ้นอย่างรุนแรงผิดปกติจะไม่มีทางแก้ไขได้ จนถึงที่สุด คหบดีเจ้าของบ้านจึงคิดว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คงจะเป็นเพราะยึดเอาดวงแก้วพระยางูนั้นไว้จึงให้โทษ และเกรงเหตุร้ายจะลุกลามยิ่งๆ ขึ้น จึงตัดสินใจคืนแก้วดวงนั้นให้สองสามีภริยากลับคืนไป ต่อมาภายในบ้านและครอบครัวของคฤหบดีผู้นั้นก็ได้อยู่เย็นเป็นสุขตามปกติ ขณะที่นายหูนางจันทร์ได้ครอบครองแก้ววิเศษอยู่นั้น ปรากฏว่าเจ้าของบ้านก็มีความเมตตาสงสาร ไม่ใช้งานหนัก การทำมาหากินเลี้ยงชีพก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ อยู่สุขสบายตลอดมา

เมื่อกาลล่วงนานมาจนเจ้าปู่อายุ ๗ ปี บิดามารดาได้นำไปถวายสมภารจวงให้เรียนหนังสือ ณ วัดดีหลวง เด็กชายปู่ศึกษาเล่าเรียนมีความเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าเพื่อนคนใดๆ เมื่อเด็กชายปู่มีอายุ ๑๕ ปี สมภารจวงผู้เป็นอาจารย์ได้บวชให้เป็นสามเณร ต่อมาท่านอาจารย์ได้นำไปฝากท่านพระครูสัทธรรมรังษี ให้เรียนหนังสือมูลกัจจายน์ ณ วัดสีหยัง (วัดสีคูยัง อ.ระโนต เวลานี้)

สามเณรปู่เรียนมูลกัจจายน์ อยู่กับท่านพระครูสัทธรรมรังษี ซึ่งคณะสงฆ์ส่งท่านมาจากกรุงศรีอยุทธยา ให้เป็นครูสอนวิชามูลฯ ทางหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยนั้น มีพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนกันมา สามเณรปู่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดส่อนิสัยปราชญ์มาแต่กำเนิด ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชามูลฯ อยู่ไม่นานก็สำเร็จ เป็นที่ชื่นชมของพระอาจารย์เป็นอย่างมาก

เมื่อสามเณรปู่เรียนจบวิชามูลฯ แล้ว ได้กราบลาพระอาจารย์ไปเรียนต่อยังสำนักพระครูกาเดิม ณ วัดสีมาเมือง เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อครบอายุบวช พระครูกาเดิมผู้เป็นอาจารย์ จัดการอุปสมบทให้เป็นภิกษุในพุทธศาสนา ทำญัติอุปสมบทให้ ฉายาว่า "สามีราโม" ณ สถานที่คลองแห่งหนึ่ง โดยเอาเรือ ๔ ลำ มาเทียบขนานเข้าเป็นแพทำญัติ ต่อมาคลองแห่งนั้น มีชื่อเรียกกันว่าคลองท่าแพจนบัดนี้

พระภิกษุปู่ เรียนธรรมอยู่สำนักพระครูกาเดิม ๓ ปี ก็เรียนจบชั้นธรรมบทบริบูรณ์ พระภิกษุปู่ได้กราบลาพระครูกาเดิมจากวัดสีมาเมืองกลับภูมิลำเนาเดิม ต่อมาได้ขอจะโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ ลงเรือที่ท่าเมืองจะทิ้งพระไปกรุงศรีอยุทธยาพระนครหลวง เพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมเพิ่มเติมอีก เรือสำเภาใช้ใบแล่นถึงเมืองนครศรีธรรมราช นายอินทร์เจ้าของเรือได้นิมนต์ขึ้นบก ไปนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีของชาวเรือเดินทางไกล ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อนๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางทางทะเล แล้วพากันมาลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เรือสำเภาใช้ใบออกสู่ทะเลหลวงเรียบร้อยตลอดมาเป็นระยะทาง ๓ วัน ๓ คืน

วันหนึ่งท้องทะเลฟ้าวิปริต เกิดพายุฝนตกมืดฟ้ามัวดินคลื่นคนองเป็นบ้าคลั่ง เรือจะแล่นต่อไปไม่ได้ จึงลดใบทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่ ๓ วัน ๓ คืน จนพายุร้ายสงบเงียบลงเป็นปกติ แต่เหตุการณ์บนเรือสำเภาเกิดความเดือนร้อนมาก เพราะน้ำจืดที่ลำเลียงมาหมดลง คนเรือไม่มีน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหาร นายอินทร์เจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้น หาว่าเป็นเพราะพระภิกษุปู่พลอยอาศัยมาจึงทำให้เกิดเหตุร้าย ซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาแต่ก่อนเลย

ผู้บันดาลโทษะย่อมไม่รู้จักผิดชอบฉันใด นายเรือคนนี้ก็ฉันนั้น เขาจึงได้ไล่พระภิกษุปู่ลงเรือใช้ให้ลูกเรือนำไปขึ้นฝั่ง หมายจะปล่อยท่านไปตามยะถากรรม ขณะที่พระภิกษุปู่ลงนั่งอยู่ในเรือเล็ก ท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือคนนั้นตักน้ำขึ้นดื่มกินดู ปรากฏว่าน้ำทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงขึ้นไปบอกบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบ พวกกะลาสีบนเรือใหญ่ จึงชวนกันตักน้ำทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหาย พากันอัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มองค์นี้ยิ่งนัก

ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือ จึงได้ดื่มน้ำนั้นพิสูจน์ดู ปรากฏว่าน้ำทะเลที่จืดนั้น มีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียน นอกนั้นเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของน้ำทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักในบริเวณนั้น ขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม นายอินทร์และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านเป็นที่อัศจรรย์เช่นนั้น ก็เกิดความหวาดวิตกภัยพิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่าน จึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่ แล้วพากันกราบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำหยาบต่อท่านมาแล้ว และถอนสมอใช้ใบแล่นเรือต่อไปเป็นเวลาหลายวันหลายคืนโดยเรียบร้อ

ขณะเรือสำเภาถึงกรุงศรีอยุทธยา เข้าจอดเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว นายอินทร์ได้นิมนต์ท่าน ให้ท่านเข้าไปในเมืองแต่ท่านไม่ยอมเข้าเมือง ท่านปรารถนาจะอยู่ ณ วัดนอกเมือง เพราะเห็นว่าเป็นที่เงียบสงบดี และได้ไปอาศัยอยู่ ณ วัดราชานุวาส ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ขณะนั้นพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุทธยา

ในสมัยนั้น ประเทศลังกาอันมีพระเจ้าวัฏฏะคามินีครองราชเป็นแผ่นดิน มีพระประสงค์จะได้กรุงศรีอยุทธยาไว้ใต้พระบรมเดชานุภาพ แต่พระองค์ไม่มีพระประสงค์จะก่อสงครามให้เกิดรบราฆ่าฟันกันและกัน ให้ประชาชนข้าแผ่นดินเดือดร้อน จึงมีนโยบายอีกอย่างหนึ่งที่สามารถจะเอาชนะประเทศอื่นโดยการท้าพนัน พระองค์จึงตรัสสั่งให้พนักงานพระคลังเบิกจ่ายทองคำในท้องพระคลังหลวง มอบให้แก่นายช่างทองไปจัดการหลอมหล่อเป็นตัวอักษรเท่าใบมะขามจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด แล้วมอบให้แก่พราหมณ์ผู้เฒ่า ๗ คน พร้อมด้วยข้าวของอันมีค่าบรรทุกลงเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยพระราชสาสน์ให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๗ นำลงเรือสำเภาใช้ใบแล่นไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อเรือสำเภาจอดท่ากรุงศรีอยุทธยาเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๗ ได้พากันเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาถวายสาสน์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงไทยทรงอ่านพระราชสาสน์ความว่า พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าพระเจ้ากรุงไทยให้ทรงแปลพระธรรมในเมล็ดทองคำและเรียบเรียงตามลำดับให้เสร็จภายใน ๗ วัน ถ้าแปลและเรียบเรียงได้ทันกำหนด พระเจ้ากรุงลังกาขอถวายข้าวของอันมีค่าทั้ง ๗ ลำเรือสำเภาเป็นบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงไทย แต่ถ้าพระเจ้ากรุงไทยแปลเรียงเมล็ดทองคำไม่ได้ตามกำหนด ให้พระเจ้ากรุงไทยจัดการถวายดอกไม้เงินและทองส่งเป็นราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุกๆ ปี ตลอดไป

เมื่อพระองค์ทรงทราบพระราชสาสน์อันมีข้อความดังนั้น จึงทรงจัดสั่งนายศรีธนญชัยสังฆการี เขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะ และพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศให้เข้ามาแปลธรรมในพระมหานครทันกำหนด เมื่อได้ประกาศไปแล้ว ๖ วัน ก็ไม่มีใครสามารถแปลเรียบเรียงเมล็ดทองคำนั้นได้ พระองค์ทรงปริวิตกเป็นยิ่งนัก และในคืนวันนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่า มีพระยาช้างเผือกผู้มาจากทิศตะวันตก ขึ้นยืนอยู่บนพระแท่นในพระบรมมหาราชวัง ได้เปล่งเสียงร้องก้องดังได้ยินไปทั่วทั้งสี่ทิศ ทรงตกพระทัยตื่นบรรทมในยามนั้น และทรงพระปริวิตกในพระสุบินนิมิตเกรงว่าประเทศชาติจะเสียอธิปไตย และเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ทรงพระวิตกกังวลไม่เป็นอันจะบรรทมจนรุ่งสาง

เมื่อได้เสด็จออกยังท้องพระโรง สั่งให้โหรหลวงเข้าเฝ้าโดยด่วน และทรงเล่าพระสุบินนิมิตให้โหรหลวงทำนาย เพื่อจะได้ทรงทราบว่าร้ายดีประการใด เมื่อโหรหลวงทั้งคณะได้พิจารณาดูยามในพระสุบินนิมิตนั้นละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว ก็พร้อมกันกราบถวายบังคมทูลว่า ตามพระสุบินนิมิตนี้ จะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากทิศตะวันตกอาสาเรียงและแปลพระธรรมได้สำเร็จ พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะยั่งยืนแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสี่ทิศ เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วก็คลายพระปริวิตกลงได้บ้าง

ด้วยเดชะบุญบันดาลในเช้าวันนั้น บังเอิญศรีธนญชัยไปพบพระภิกษุปู่ที่วัดราชานุวาส ได้สนทนาปราศัยกันแล้วก็ทราบว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงเวลานี้) เพื่อศึกษาธรรม ศรีธนญชัยเล่าเรื่องพระเจ้ากรุงลังกาท้าพนันให้แปลธรรม แล้วถามว่าท่านยังจะช่วยแปลได้หรือ พระภิกษุปู่ตอบว่า ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ศรีธนญชัยจึงนิมนต์ท่านเข้าเฝ้า ณ ที่ประชุมสงฆ์ ขณะที่พระภิกษุปู่ถึงประตูหน้าพระวิหาร ท่านย่างเท้าก้าวขึ้นไปยืนเหยียบบนก้อนหินศิลาแลง ทันทีนั้นศิลาแลงได้หักออกเป็นสองท่อนด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

เมื่อเข้าไปในพระวิหาร พระมหากษัตริย์ตรัสสั่งพนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันสมควร แต่ก่อนท่านจะเข้านั่งที่แปลพระธรรมนั้น ท่านได้แสดงกิริยาอาการเป็นปัญหาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง ๗ กล่าวคือ ท่าแรกท่านนอนลงในท่าสีหะไสยาสน์ แล้วลุกขึ้นนั่งทรงกายตรง แล้วกะเถิบไปข้างหน้า ๕ ที แล้วลุกขึ้นเดินเข้าไปนั่งในที่อันสมควร

พราหมณ์ผู้เฒ่าทั้ง ๗ เห็นท่านแสดงกิริยาเช่นนั้นเป็นการขบขันก็พากันหัวเราะ และพูดว่า นี่หรือพระภิกษุที่จะแปลธรรมของพระบรมศาสดา อะไรจึงแสดงกิริยาอย่างเด็กไร้เดียงสา พราหมณ์พูดดูหมิ่นท่านหลายครั้ง ท่านจึงหัวเราะ แล้วถามพราหมณ์ว่า ประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ท่านไม่เคยพบเห็นกิริยาอาการเช่นนี้บ้างหรือ? พราหมณ์เฒ่าฉงนใจก็นิ่งอยู่ต่างนำบาตรใส่เมล็ดทองคำเข้าประเคนท่านทันที

เมื่อพระภิกษุปู่รับประเคนบาตรจากมือพราหมณ์มาแล้ว ท่านก็นั่งสงบจิตอธิษฐานแต่ในใจว่า ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์ และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อน และอำนนาจเทพยดาอันรักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้ง ขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์สำเร็จสมปรารถนาเถิด ครั้นแล้วท่านคว่ำบาตรเททองเรี่ยราดลงบนพรม และนั่งคุยกับพราหมณ์ตามปกติ

ด้วยอำนาจบารมีอภินิหารของท่าน ที่ได้จุติลงมาโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา ประกอบกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เทพยเจ้าทั้งหลายจึงดลบันดาล เรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับตัวอักษรโดยเรียบร้อยในเวลานั้น ชั่วครู่นั้นท่านก็ได้เหลียวกลับมาลงมือเรียบเรียง และแปลอักษรในเมล็ดทองคำจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด เป็นลำดับโดยสะดวกและไม่ติดขัดประการใดเลย นับว่าโชคชะตาของประเทศชาติยังคงรุ่งเรืองสืบไป

ขณะที่พระภิกษุปู่เรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฎว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไป ๗ ตัว ตือตัว สํ วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ พราหมณ์ทั้ง ๗ คนยอมจำนน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฎว่าพระภิกษุปู่แปลพระไตรปิฎกในเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์ เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น และทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์ประโคม พร้อมเสียงประชาชนโห่ร้องต้อนรับชัยชนะเสียงดังสนั่นหวั่นไหวทั่วพระนครศรีอยุทธยาป็นการฉลองชั

สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง จึงทรงตรัสสั่งถวายราชสมบัติให้พระภิษุปู่ครอง ๗ วัน แต่ท่านไม่ยอมรับ โดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณเพศ ไม่สมควรที่จะครองราชสมบัติ อันผิดกิจของสมณควรประพฤติ พระองค์ก็จนพระทัย แต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีและความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งให้พระภิกษุปู่ดำรงสมณศักดิ์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" ในเวลานั้น

พระภิกษุปู่ หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ได้ประจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปีด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา




หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน พิมพ์ใหญ่ พ.ศ. 2497




หลวงพ่อทวดเนื้อวาน พิมพ์กรรมการรุ่นแรก พ.ศ. 2497




อาจารย์ทิม ธัมมธโร และนายอนันต์ คณานุรักษ์ (นั่งขวามือของภาพ)
(ยืนจากซ้ายไปขวา) นายชาติ สิมศิริ, นายช่วง สิมศิริ และนายสุนนท์ คณานุรักษ์ บุตรชายคนที่ 2 ของนายอนันต์
ขณะกำลังเซ็นสัญญาสร้างอาคารโรงเรียนหลวงพ่อทวด



โดย: นายอนันต์ คณานุรักษ์ - หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

สถูปหลวงพ่อทวด

สถูปหลวงพ่อทวดฯ




(สถูปหลวงพ่อทวดฯ หน้าวัดช้างให้ : อาจารย์ทิม ธัมมธโร นายอนันต์ คณานุรักษ์ และนายสุนนท์ คณานุรักษ์)



สถูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุอัฐิหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด สมภารองค์แรกของวัดช้างให้ สถูปนี้ตั้งอยู่ใกล้ชิดกับทางรถไฟสายใต้ระหว่างหาดใหญ่ - สุไหงโก-ล๊ก ใกล้ชิดที่สุดระหว่างสถานีนาประดู่ กับสถานีป่าไร่ สถูปนี้มีอายุยืนนานมาประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ แต่เดิมมีแต่เสาไม้แก่นปักหมายไว้ ประชาชนจึงเรียกกันว่า เขื่อนท่านช้างให้

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร (พระครูวิสัยโสภณ เวลานี้) เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ ซึ่งเป็นองค์หลังสุดเวลานี้ ท่านได้จัดการบูรณะก่ออิฐถือปูนห่อหุ้มเสาไม้แก่นของเดิมไว้ภายใน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าบัว (สถูป) หลวงพ่อทวดมาจนบัดนี้

ความศักดิ์สิทธิ์ในคุณอภินิหารของสถูปหลวงพ่อทวดฯ นี้มีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว แต่เนื่องจากครั้งนั้นยังไม่มีทางรถไฟ จึงตกอยู่กลางป่าเปลี่ยว และวัดก็รกร้างอยู่ การสักการะบูชาก็มีแต่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น

ครั้นต่อมาการคมนาคมเจริญขึ้น มีการทำทางรถไฟสายใต้ผ่านหน้าวัดและผ่านไปข้างสถูปนี้ และมีถนนซอยแยกจากถนนหลวงเข้าไปถึงวัด ประชาชนได้รับความสะดวกในการไปมา ก็ได้พากันไปสักการะบูชาจากถิ่นไกลๆ มีหลายชาติหลายภาษายิ่งทวีมากขึ้น ดังเป็นที่ประจักษ์อยู่ ณ เวลานี้

อภินิหารของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวบ้านในครั้งนั้น ก็เป็นข่าวเล่าลือกันในความศักดิ์สิทธิ์ แพร่หลายไปในหมู่บ้านใกล้เคียงโดยทั่วๆ กัน ใครมีเรื่องป่วยไข้ได้ทุกข์ใดๆ ก็พากันมาสักการะบูชา ขอให้ท่านช่วยดลบันดาลขจัดปัดเป่าสิ่งร้ายนั้น ก็สำเร็จสมความประสงค์ ชาวบ้านข้างเคียงจึงเคารพนับถือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

บัดนี้วัดช้างให้ ได้เจริญรุ่งเรืองในด้านการบูรณะก่อสร้าง ซึ่งมีโบสถ์หลังงาม ค่าก่อสร้างเหยียบ ๘ แสนบาท วิหารอันงดงามค่าก่อสร้างประมาณแสนห้าหมื่นบาท สำหรับประดิษฐานรูปหล่อจำลององค์หลวงพ่อทวดฯ ไว้สักการะบูชา และยังก่อสร้างกุฏิสำหรับเป็นที่พักอาศัยของสมภารเจ้าวาส ซึ่งประมาณค่าก่อสร้างถึง ๑ แสน ๕ หมื่นบาท ธรรมศาลา ๑ หลัง ราคา ๔ แสนบาท กุฏิ ๕ หลัง ๒ แสนบาท โรงเรียน ๑ เป็นตึก ๒ ชั้น กว้าง ๙ เมตร ยาว ๕๔ เมตร ราคา ๑ ล้านบาทเศษ

ส่วนทางด้านปฏิบัติศาสนกิจ ก็นับว่าท่านพระครูเจ้าอาวาสได้ปฏิบัติมั่นอญุ่ในศีลธรรม จนประชาชนหลายชาติหลายภาษาพากันนิยมเลื่อมใสทั่วๆ ไป ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วทุกขณะ จึงเห็นได้ว่าวัดช้างให้มีความเจริญแล้วด้วยประการทั้งปวง สมเกียรติพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง


หลังจากท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร พระครูวิสัยโสภณ ฝันว่าได้พบกับ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนผู้เลื่อมใสอยู่ในเวลานี้ วันหนึ่งท่านอาจารย์ทิมนึกสนุก จึงเก็บเอาก้นเทียนที่ตกอยู่ริมเขื่อน (สถูป) มาคลึงเป็นลูกอม แล้วแจกจ่ายให้แก่เด็กวัดไปโดยไม่มีความหมายอะไร แต่ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์แก่ท่านว่า เมื่อเด็กได้ลูกอมก้นเทียนไปจากท่านแล้ว ก็ได้ใช้ลูกอมขี้ผึ้งนี้อมไว้ในปาก แล้วลองฟันแทงกันด้วยมีดและพร้ามีคม แต่ฟันแทงกันไม่เข้า เลยถือเป็นการสนุกตามประสาเด็ก จนความทราบถึงท่านอาจารย์ฯ ก็ตกใจ เกรงเด็กจะเป็นอันตราย จึงเรียกเด็กมาประชุมสั่งสอนและห้ามการทดลองกันต่อไป

หลังจากนั้นมา ท่านเริ่มสนใจในคำปวารณาของหลวงพ่อทวดว่าจะเอาอะไรให้ขอ ก็พอดีพวกชายหนุ่มๆ ผู้ชอบทางคงกะพันได้พากันมาขอให้อาจารย์สักลงกระหม่อมให้ เพื่อมีไว้คุ้มครองตัว ท่านระลึกถึงหลวงพ่อทวดฯ แล้วก็สักให้สุดแล้วแต่มือจะลากพาตัวอักขระไป เพราะท่านเองยังไม่ได้ศึกษาในเรื่องนี้ และก็ได้สั่งสอนให้พวกศิษย์ที่มาสักประพฤติแต่ความดี ปรากฏว่าศิษย์ท่านอาจารย์วัดช้างให้ในสมัยนั้น เกิดลองดีกันทางคงกะพัน แล้วไม่มีศิษย์อาจารย์อื่นสู้ได้เลย (ขณะนั้นเป็นช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงเล็กน้อย) หลังจากนั้นมาทางคณะสงฆ์ผู้ใหญ่สั่งห้ามพระภิกษุทำการลงกระหม่อม ท่านอาจารย์ฯ จึงได้ระงับงดการสักตั้งแต่บัดนั้นมาจนบัดนี้ แต่คุณอภินิหารยังปรากฏอยู่

หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด โกรธทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้งนั้นทางการทหารญี่ปุ่นได้เอารถไฟสายใต้ของไทยทั้งขบวน ไปใช้ทำการขนส่งสัมภาระเข้ากลันตันโจมตีสิงคโปร์ รถไฟขบวนนี้ต้องแล่นผ่านหน้าวัดช้างให้ไปตามราง ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเขื่อน (สถูป) อยู่ทุกๆ วัน

ต่อมาวันหนึ่งในเดือนมกราคม ๒๔๘๕ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. รถไฟขบวนนี้แล่นกลับมาจากสุไหงโก-ล๊ก ถึงหน้าวัดหัวรถจักรเคียงขนานตรงกับสถูปพอดี ทันทีนั้น เหตุการณ์อัศจรรย์ที่ยังไม่มีใครพบเห็นก็ปรากฏขึ้น คือรถไฟขบวนนั้นติดตรึงอยู่กับที่ จะเคลื่อนที่ต่อไปอีกไม่ได้ เครื่องรถจักรยังคงเดินตามปรกติ ล้อเหล็กกำลังหมุนอยู่บนรางเหล็กในที่เดิม จึงเกิดความร้อนมาก มีประกายไฟแดงพราวไปทั้งสองข้างขบวนรถนั้น อยู่สักครู่ พนักงานหัวรถจักรและทหารญี่ปุ่นก็จนปัญญา ไม่สามารถจะแก้ไขนำขบวนรถเคลื่อนที่แล่นไปได้ จึงให้รถจักรถอยหลังไปประมาณ ๑ ก.ม. แล้วเร่งฝีจักรเต็มที่แล่นมาใหม่อีก แต่พอหัวรถจักรเคียงขนานกับสถูปในที่เดิมก็เคลื่อนที่ต่อไปไม่ได้อีก รถไฟขบวนนี้จึงทดลองแล่นมาและถอยหลังกลับอยู่ตั้งแต่ ๑๕.๐๐ น. จนกระทั่งใกล้จะค่ำก็ผ่านไปไม่ได้ ประชาชนชาวบ้านใกล้เคียงชวนกันมายืนดูความอัศจรรย์ครั้งนี้อย่างล้นหลาม

ฝ่ายท่านอาจารย์เจ้าอาวาส ก็ได้ยินเสียงเครื่องจักรรถไฟดังสั่นสะเทือนไปมาอยู่หน้าวัด แต่ธุระไม่ใช่ท่านจึงไม่ได้สนใจออกจากกุฎิมาดูอย่างผู้อื่น แต่เมื่อเวลาใกล้จะค่ำอยู่แล้ว รถไฟขบวนนี้ก็ยังคงวิ่งไปมาอยู่ที่เดิม ท่านนึกสงสัย จึงคิดว่าทหารญี่ปุ่นมาทำอะไรอยู่หน้าวัด ท่านจึงลงจากกุฎิไปดูกับเขาบ้าง เมื่อปรากฎแก่สายตาของท่านว่าหัวรถจักรติดอยู่เพียงสถูปทุกๆ ครั้ง ที่ขณะกลับไปมา ท่านจึงนึกว่าน่าจะเป็นอภินิหารของท่านหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เล่นงานขบวนรถไฟนี้เสียแล้ว ท่านอาจารย์จึงเดินเข้าไปใกล้สถูปแล้วนึกในใจว่า ถ้าหากหลวงพ่อทวดลงโทษ ยึดขบวนรถไฟนี้แล้วก็ขอให้ยกโทษ ปล่อยให้เขาไปทำงานตามหน้าที่ของเขาเถิด เขาเป็นพวกนอกศาสนาไม่รู้จักอะไร อย่าถือโทษเขาเลยและทันทีนั้นรถไฟก็ค่อยๆ เคลื่อนจากที่เดิม วิ่งไปได้เป็นปกติ

และในคืนวันนั้น ท่านอาจารย์นอนพอเคลิ้มใกล้จะหลับ ก็ได้ยินเสียงพูดที่ข้างหูเป็นเสียงคนแก่พูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า อ้ายญี่ปุ่นมาดูถูกพวกเรา (ชาติไทย) มันข่มเหงเอารถไฟเราไปใช้ ดีแต่มีลูกๆ อยู่บนรถสองตัว มิฉะนั้นก็จะผลักให้ตกจากราง กูไม่ยอมให้มันเอาไปใช้เป็นอันขาด ท่านอาจารย์ทิมไม่ทราบว่าอะไร ที่ท่านหลวงพ่อเรียกว่าลูก ๒ ตัว อยู่บนรถ ต่อมาประมาณ ๗-๘ วัน ได้มีชายสองคนมาหาท่านที่วัด และขอถวายตัวเป็นศิษย์ และเล่าให้ท่านอาจารย์ฯ ฟังว่า เขาสองคนเป็นพนักงานหัวรถจักร และวันที่ขบวนรถไฟติดอยู่หน้าวัดนั้น เขาสองคนเป็นคนไทยอยู่บนรถขบวนนั้น นอกจากนั้นเป็นทหารญี่ปุ่นทั้งหมด จึงได้ทราบกันว่า ลูกสองตัวก็คือคนไทยสองคนนี่เอง

ครั้งที่ ๒ ต่อจากขบวนรถไฟญี่ปุ่นถูกหลวงพ่อทวดฯ ยึด ครั้งที่ ๑ ประมาณเดือนเศษ วันหนึ่งเวลาเช้า มีพวกเด็กๆ เล่นอยู่หน้าวัดและใกล้ๆ กับสถูปนั้น ได้พูดเล่ากันถึงหลวงพ่อทวดฯ ยึดขบวนรถไฟคราวแรก มีเด็กคนหนึ่งพูดท้ากันว่า วันนี้หลวงพ่อทวดฯ ยึดรถไฟหรือไม่ยึด อีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่ยึด ฝ่ายที่ว่ายึดก็ได้เก็บเอาก้นเทียน และธูปที่เหลืออยู่หน้าสถูปจุดไฟขึ้นบูชา และอาราธนาขอให้หลวงพ่อทวดฯ ยึดขบวนรถไฟซึ่งกำลังวิ่งมา วันนั้นเวลาเช้า มีขบวนรถไฟเช้าระหว่างยะลาหาดใหญ่ พอหัวรถจักรเคียงขนานกับสถูปศักดิ์สิทธิ์ ก็หยุดนิ่งอยู่จะเคลื่อนที่ต่อไปก็ไม่ได้อย่างครั้งแรก รถทั้งขบวนติดอยู่ ประมาณ ๓๐ นาที จึงเคลื่อนที่ไปได้ตามปกติ

ครั้งที่ ๓ มีพระอธิการยิ้ม หลวงพ่อแดง พระภิกษุกาว สำนักวัดแป้น อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ได้พากันไปวัดช้างให้ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ และพักอยู่ที่วัดหนึ่งคืน รุ่งขึ้นวันที่ ๓ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. พระภิกษุทั้ง ๓ รูป ได้มาขอพบข้าพเจ้าที่บ้าน แล้วเล่าให้ฟังว่าหลวงพ่อแดงนั้นเคยทราบจากข้าพเจ้าว่า หลวงพ่อทวดวัดช้างให้ ได้กระทำการยึดรถไฟมาแล้วถึง ๒ ครั้ง เหตุนี้พอตอนเช้าหลวงพ่อแดง จึงเดินออกไปยืนอยู่ข้างสถูปรถไฟเช้า ยะลา-หาดใหญ่ แล้วกล่าวคำปรารภขึ้นว่าเขาลือกันมานักว่า หลวงพ่อทวดฯ มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์มากเคยยึดขบวนรถไฟมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ลูกหลานมาจากที่ไกลใคร่จะขอชมสักครั้ง ชั่วครู่ขบวนรถไฟเมื่อมาถึงหน้าวัดแล้วก็ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่เฉยๆ จะทำอย่างไรก็ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ แต่ล้อรถจักรก็คงหมุนรอบๆ อยู่บนรางอย่างคราวก่อนๆ แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีอะไรยึดอยู่ข้างหลังขบวนรถ หลวงพ่อแดงว่า ท่านเห็นเป็นที่ประจักษ์และตื่นเต้นจนขนลุก จึงกล่าวขึ้นว่า ลูกหลานได้ชมแล้ว ขอให้ปล่อยไปเถิด ขบวนรถไฟจึงได้เคลื่อนเป็นปกติ ครั้งนี้รถไฟติดอยู่กับที่ประมาณ ๘-๙ นาที

ประวัติการสร้างพระหลวงพ่อทวด

ประวัติการสร้างพระเครื่อง สมเด็จหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด




ที่ปรากฏองค์ของท่านขึ้นมาในยุคนี้ได้ เพราะความฝัน คือ

คืนวันหนึ่งในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ เวลาใกล้รุ่ง ข้าพเจ้าฝันว่าได้พบกับท่าน ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดช้างให้มากนัก ท่านได้มอบยาชนิดหนึ่งให้ข้าพเจ้ากิน แล้วสวมมงคลรัดศีรษะให้อีก แสดงว่าท่านได้รับข้าพเจ้าไว้เป็นศิษย์ เพื่อจะให้ข้าพเจ้าได้รับใช้งานของท่านในโอกาสต่อไป เป็นการสนองคุณพระอาจารย์ เสร็จแล้วท่านเดินจากข้าพเจ้าไปทางทิศที่ตั้งของวัดช้างให้ รุ่งเช้าข้าพเจ้าคิดว่าสถูปศักดิ์สิทธิ์หน้าวัดช้างให้นี้ คงจะเป็นสถูปซึ่งได้บรรจุอัฐิของท่าน หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ เมื่อสมัยหลายร้อยปีมาแล้วเป็นแน่ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปที่วัดเพื่อสืบถามดู แต่ในระยะนั้น ข้าพเจ้ามีธุระกิจจำเป็นบางประการไม่สามารถจะไปได้ตามความตั้งใจ โอกาสต่อมา เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๗ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสออกจากบ้านมาถึงตลาดนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จึงได้แวะชวนนายชาติ สิมศิริ กำนัน นายกวี จิตตกูล นายวิศิษฐ์ คณานุรักษ์ พากันไปวัดช้างให้

เมื่อพวกเราได้ทำความเคารพท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดช้างให้แล้ว ก็ได้สนทนาปราศรัยต่อกัน วันนี้เป็นวันแรกที่ข้าพเจ้าได้มาเยี่ยมวัดช้างให้ และได้รู้จักท่านอาจารย์ฯ เจ้าอาวาสวัดช้างให้ ในการสนทนากันตอนหนึ่งข้าพเจ้าได้เรียนถามท่านอาจารย์ฯ ว่าโบสถ์ที่สร้างค้างอยู่นั้น ท่านไม่คิดจะสร้างพระเครื่องไว้แจกจ่ายแก่ผู้สละทรัพย์โมทนาสร้างโบสถ์บ้างหรือ ท่านอาจารย์ตอบว่า เคยคิดมา ๒ ปีแล้วแต่ไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าจึงรับว่าถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าขอรับจัดสร้างขึ้นถวาย ท่านก็ยินดีที่ข้าพเจ้าจัดทำให้

ข้าพเจ้าได้เรียนขอให้ท่านอาจารย์ได้เลือกแบบพระ ท่านจะเอาปางไหนตามใจท่านชอบ แต่ข้าพเจ้าขอเพียงแต่เลือกสีของพระคือสีดินแดง ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เกิดรู้สึกขนพองสยองเกล้าขึ้นมา ทุกคนในที่นั้นได้เห็นเป็นประจักษ์ ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้ที่มีต่อตัวข้าพเจ้า ก็เห็นจะเป็นเพราะหลวงพ่อทวดฯ ท่านมีความปิติยินดีที่พวกเราคิดจะสร้างพระเครื่องครั้งนี้ แต่เอาเถอะขอให้ท่านอาจารย์เลือกแบบพระก็แล้วกัน ทันใดนั้นข้าพเจ้าก็เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างแรงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และได้เห็นพระเครื่องลอยเด่นอยู่ตรงหน้า เป็นรูปพระภิกษุชรานั่งขัดสมาธิอยู่บนดอกบัวมีสีพระองค์ดำ ปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์ครั้งนี้โดยหลวงพ่อทวดฯ บันดาลให้ข้าพเจ้าได้เห็นเป็นมโนภาพอย่างชัดเจนยิ่งนัก ข้าพเจ้าจึงดูนาฬิกาที่ข้อมือขณะนั้นเวลา ๑๓.๒๕ น. ข้าพเจ้าจึงได้เรียนให้ท่านอาจารย์ทราบว่า ตามนิมิตโดยอำนาจของหลวงพ่อทวดฯ ครั้งนี้ เนื่องจากท่านแนะนำให้สร้างพระเครื่องขึ้นแทนองค์ของท่านเอง จำเป็นที่เราจะต้องปฏิบัติตาม และขอให้ท่านอาจารย์เป็นสื่อการติดต่อกับวิญญาณของท่าน ในพิธีการที่จะสร้างพระเครื่องทุกๆ ระยะโดยใกล้ชิดด้วย

ข้าพเจ้าให้ช่างแกะสลักขี้ผึ้งเหลืองทำแบบพระเครื่องเสร็จแล้วเก็บไว้ ๓ คืน รุ่งเช้าแบบขี้ผึ้งแปรสภาพ คือในองค์พระซึ่งมีสบงจีวรคลุมอยู่ยังคงเป็นสีเหลืองตามเดิม แต่ผิวเนื้อที่อยู่นอกสบงจีวร เช่น ศอ ถึง พักตร ลำแขนถึงนิ้วมือ หน้าแข้งถึงปลายเท้า เกิดเป็นสีดำอย่างเอาหมึกทา ปรากฏการณ์อัศจรรย์นี้ ท่านพระครูฯ นั่งสมาธิถามท่านว่า ใครทำให้แบบแปรสภาพเช่นนี้ ท่านตอบว่าสมเด็จเจ้าพะโคะเอง แล้วท่านอาจารย์ฯ ถามถึงความฝันของผู้เขียนที่ว่าพบสมเด็จเจ้าฯ ทำพิธีสวมมงคลให้ ว่าใครเป็นผู้ทำให้ และทำให้เขาทำไม ท่านตอบว่าสมเด็จเจ้าฯ ทำให้เพราะเขาเป็นคนดี และชอบทางนี้ เราจะใช้เขาให้ช่วยทำงานใหญ่ (หมายถึงงานสร้างโบสถ์)

เมื่อมีข่าวว่าวัดช้างให้จะสร้างพระเครื่องขึ้น พี่น้องชาวพุทธในแถบนั้นต่างคนต่างสนใจเป็นจำนวนมาก ได้บุกป่าขึ้นเขาชักชวนกันไปหาว่านนานาชนิด มาถวายแก่ท่านอาจารย์เป็นจำนวนมากมาย ทางวัดก็ได้เตรียมการรอวันจะทำพิธีอยู่อย่างพร้อมเพรียงและได้ปฏิบัติตามหลวงพ่อทวดฯ แนะนำผ่านท่านอาจารย์ทุกประการ

นายฮวด ผู้ใหญ่บ้านเหมืองใน ตำบลลำพยา ได้มาหาข้าพเจ้าพร้อมด้วยนายชาติ สิมศิริ กำนันโดยบังเอิญ เมื่อเขาทราบว่าข้าพเจ้ากำลังหาดินดำเพื่อสร้างพระเครื่อง นายฮวดขอรับอาสาจะขุดและขนเอาดินว่านสีดำซึ่งมีอยู่ ณ เชิงเขาแห่งหนึ่งไปส่งให้ถึงวัด โดยไม่คิดค่ารถค่าแรงแต่ประการใ

ดินว่านนี้เป็นดินสีดำตามธรรมชาติ อยู่เป็นทางซึ่งจะเข้าใต้ภูเขา ชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า กากยายักษ์ หมายถึงกากยายักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ชาวบ้านเอาดินดำนี้มาตากแห้ง หรือย่างไฟกินแก้โรคผอมเหลืองหรือโรคโลหิตจาง เขาว่าดีนักจึงเป็นที่หวงแหนของชาวบ้านแถวนั้น

เมื่อได้เตรียมการตามคำแนะนำของหลวงพ่อทวดฯ เรียบร้อยแล้ว ถึงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง เป็นมงคลฤกษ์ในพิธี จึงปลุกเสกเบ้าพิมพ์ซึ่งมีอยู่ ๑๖ เบ้า เสร็จแล้วได้พิมพ์พระเครื่องเป็นต้นมา จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๙๗ ได้พระเครื่องจำนวน ๖๔,๐๐๐ องค์ (จะพิมพ์ให้ได้ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่เวลาจำกัดในพิธีปลุกเสก) ก็ต้องหยุดลง เพื่อเอาเวลาเตรียมงานพิธีปลุกเสกพระเครื่อง ตามที่หลวงพ่อทวดฯ กำหนดให้ท่านพระครูปฏิบัติ

ถึงวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ตรงกับวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาเที่ยงตรง ได้ฤกษ์พิธีปลุกเสกพระเครื่อง ณ เดินดินบริเวณโบสถ์เก่า โดยมีท่านพระครูวิสัยโสภณ (อาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสเป็นองค์ประธานในพิธีและนั่งปรก ได้อาราธนาอัญเชิญพระวิญญาณหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด พร้อมด้วยวิญญาณหลวงพ่อสี หลวงพ่อทอง และหลวงพ่อจันทร์ ซึ่งหลวงพ่อทั้งสาม องค์นี้สิงสถิตย์อยู่ร่วมกับหลวงพ่อทวดฯ ในสถูปหน้าวัด ขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาทความศักดิ์สิทธิ์ขลังแก่พระเครื่องฯ นอกจากนั้นก็มีหลวงพ่อสงโฆสโก เจ้าอาวาสวัดพะโคะเวลานี้ พระอุปัชฌาย์ดำ เจ้าอาวาสวัดศิลาลอย (ทั้ง ๒ วัดนี้ตั้งอยู่ในอำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา) พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อาวุโส ณ วัดช้างให้ ร่วมพิธีปลุกเสกพระเครื่องเสร็จลงในเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันนั้น ท่านพระครูฯ พร้อมด้วยพระภิกษุอาวุโสและคณะกรรมการ มีนายอนันต์ คณานุรักษ์ (ผู้เขียน) นายชาติ สิมสิริ นายกวี จิตกูล นายวิศิษฐ์ คณานุรักษ์ นายวิทยา คณานุรักษ์ นายสุนนท์ คณานุรักษ์ และนายจำรูญ คณานุรักษ์ ได้ร่วมกันทำการแจกจ่ายพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ให้แก่ประชาชนผู้เลื่อมใส ซึ่งมาคอยรอรับอยู่อย่างคับคั่งจนถึงเวลาเที่ยงคืน ปรากฏว่าในวันนั้นกรรมการได้รับเงินจากผู้ใจบุญ โมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เป็นจำนวน ๑๔,๐๐๐ บาท

หลังจากนั้นมา ด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารหลวงพ่อทวดฯ ดลบันดาลให้พี่น้องหลายชาติหลายภาษาร่วมสามัคคีสละทรัพย์โมทนาสมทบทุนสร้างโบสถ์เรื่อยๆ มา งานก่อสร้างโบสถ์จึงมีกำลังดำเนินการต่อไปโดยมิได้หยุดยั้ง จนถึงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๙ ได้จัดทำพิธียกช่อฟ้า และวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๑ พิธีผูกพัทธสีมา โบสถ์หลังนี้จึงสำเร็จสมบูรณ์ และพระภิกษุสงฆ์ได้อาศัยทำสังฆกรรมถึงเวลานี้ รวมค่าก่อสร้างประมาณ ๘ แสนบาท ขอให้พี่น้องทุกคนจงรับเอาส่วนกุศลจงทั่วๆ กันเทอญ

ตามที่ข้าพเจ้าได้จัดการสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดครั้งนี้ เพราะข้าพเจ้าฝันว่า สมเด็จเจ้าพะโคะมาทำพิธีสวมมงคลให้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะตอบแทนคุณสมเด็จฯ ท่าน แต่ไม่รู้ว่าท่านสถิตย์อยู่ที่ไหน จึงเรียนถามท่านเจ้าคุณเทพญาณโมลี วัดตานีนรสโมสร ท่านเจ้าคุณกรุณาบอกว่าท่านไม่โล่ไปไหนตามข่าวลือ อัฐิของสมเด็จท่านอยู่ในเขื่อนหรือสถูปหน้าวัดช้างให้ ข้าพเจ้าจึงสร้างพระเครื่องเป็นรูปพระภิกษุชราต่างองค์สมเด็จท่านและตามนิมิต ณ วัดช้างให้ ซึ่งปรากฏทราบกันมาดีแล้ว ข้าพเจ้าปรารภกับ ท่านพระครูวิสัยโสภณว่า พระเครื่องนี้จะให้ชื่อว่า พ่อท่านทวดตามความนิยมเรียกของคนถิ่นนั้น แต่ท่านพระครูฯ นั่งสมาธิถามท่าน ท่านว่าไม่เอา ถามต่อไปว่าจะให้ชื่อว่าสมเด็จเจ้าพะโคะหรือ ท่านว่าชื่อนี้ให้เขาเรียกกันทางโน้น (หมายถึงภูมิลำเนาเดิม หรือวัดพะโคะ) ถ้ากระนั้นจะชื่ออย่างไร? วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของท่านบอกว่า ให้ชื่อ "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" จึงให้ชื่อพระเครื่องแต่วันนั้นมา




อาจารย์ทิม ธัมมธโร ลงนามอนุญาตให้ นายอนันต์ คณานุรักษ์ เป็นผู้จัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อทวดรุ่นแรก
คนยืนด้านขวามือสุดของภาพ ด้านหลังของนายอนันต์ คือ นายสุนนท์ คณานุรักษ์ (บุตรชายคนที่สองของนายอนันต์)




พิมพ์ขี้ผึ้งต้นแบบพระเครื่องหลวงพ่อทวด
ซึ่งนายอนันต์ คณานุรักษ์ ให้นายวิทยา คณานุรักษ์ เป็นผู้แกะสลัก




หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน พิมพ์กรรมการรุ่นแรก พ.ศ. 2497



โดย: นายอนันต์ คณานุรักษ์ - หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550

การสร้างพระหลวงพ่อวัดปากน้ำ

พระหลวงพ่อวัดปากน้ำ

การสร้างพระพุทธรูปผง

เมื่อการสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมเริ่มขึ้น หลวงพ่อได้สร้างพระพุทธรูปเป็นพระพิมพ์เล็ก ๆ ครั้งแรก ๘๔,๐๐๐ องค์ ผสมด้วยผงและสรรพดอกไม้หอม มีดอกมะลิเป็นต้นที่ได้บูชาพระประจำเช้าเย็นและนำออกตาก ได้มาผสมกับผง พิมพ์เป็นพระแจกแก่ผู้มาร่วมการกุศลในวัดนั้น ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของประชาชน เพราะหลวงพ่อท่านเข้าสมาธิปลุกเศกด้วยตนเองและรวมศิษย์ที่ได้ธรรมกายช่วยบรรจุ
ิทธิฤทธิ์อันเกิดแก่ธรรมกาย ช่วยกันทำเป็นเว
าแรมปี

การแจกนั้น มิใช่ให้ผู้ใดนำออกไปนอกวัด และมิได้ลงแจ้งความชักชวนเป็นใบปลิว วัดปากน้ำทำอย่างเงียบรู้กันเป็นภายใน เกิดความนิยมภายในก่อน แล้วข่าวว่าหลวงพ่อทำพระผงก็แพร่หลายไป มีผู้มารับกันคับคั่งวันหนึ่งเป็นจำนวนร้อย ๆ หลวงพ่อเป็นผู้แจกเอง ผู้รับนั้นคือคนมาทำบุญที่วัด เมื่อบริจาคแล้วเอาใบเสร็จไปถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ให้พระ ๑ องค์ ประสิทธิ์ประสาทให้ตามพิธีของท่าน

ตามต่างจังหวัดเดินทางมาเป็นหมู่โดยทางเรือเมล์บ้าง โดยเอาเรือแท็กซี่มาเป็นคณะบ้าง มีพระภิกษุนำมาบ้าง ครั้งแรก ๆ คนแน่นวัด ถ้ามาผิดเวลาต้องรอตั้งวันจึงได้รับพระที่ตนต้องการ พวกมารับพระนั้นไม่ได้พูดกันว่ามาเช่าพระ แต่พูดกันทุกคนว่ามารับของขวัญ

เมื่อออกแจกเป็นของขวัญไม่ช้า วันหนึ่งมีผู้มารับพระของขวัญมีจำนวนถึง ๑,๕๐๐ คนเศษ ที่ทราบจำนวนดังนี้โดยนับใบปวารณาที่ผู้มารับของขวัญไปทำถวายแทบทุกวัน ต้องสิ้นเวลาแจกนับเป็นชั่วโมง ๆ แสดงความอัศจรรย์ในสมาธิจิตอันเกิดแก่ธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

การนำพระออกไปแจกตามนอกวัดนั้นไม่ได้เป็นเด็ดขาด ต้องมารับที่วัดปากน้ำและต้องรับจากหลวงพ่อด้วยจึงจะพอใจ ใคร ๆ จะแจกแทนไม่ได้ แม้จะมีผู้อื่นแจกแทนผู้ต้องการก็ไม่นิยม

ผู้จะรับของขวัญได้เพียงองค์เดียวเท่านั้น คือคนหนึ่งรับได้ ๑ องค์ จะฝากกันไปรับหลวงพ่อก็ไม่ให้ใคร รับไปแล้วถ้าทำหายจะมารับอีกหลวงพ่อก็ไม่ให้เหมือนกัน แม้จะทำบุญสักเท่าไร ๆ ก็ไม่ให้อยู่นั่นเอง เว้นไว้แต่ไม่ทราบ

ที่ประหลาดยิ่งกว่านั้น ก็คือว่าใครทำบุญมาก ๆ เช่น ๑,๐๐๐ บาท หรือ ๑๐,๐๐๐ บาท หลวงพ่อก็ให้พระของขวัญเพียงองค์เดียวเหมือนกัน ได้เคยถามท่านว่า เมื่อเขามาทำบุญตั้งพันบาทเช่นนั้นจะให้ของขวัญสัก ๕ องค์ ๑๐ องค์ ไม่ได้หรือ หลวงพ่อตอบว่าพระของเรามีคุณภาพสูงยิ่งกว่าราคาใด ๆ เงินพันบาทเงินหมื่นบาทนั้นยังไม่สมกับคุณภาพ

ของพระเสียอีก แม้ท่านจะให้แก่ผู้ใดเป็นส่วนตัว ท่านก็จะต้องบริจาคปัจจัยให้แก่วัดเหมือนกัน ทั้งนี้ท่านถือว่าท่านทำให้แก่วัด

มิใช่ทำเพื่อส่วนตัว จะเอาเปล่า ๆ ไม่ได้ ชั่วเวลาไม่ถึงปีพระผงจำนวน ๘๔,๐๐๐ ก็หมดไป หลวงพ่อต้องเข้าบริกรรมทำอีก เพื่อเป็นของ

ขวัญแก่ประชาชน เมื่อก่อนท่านจะมรณภาพ คือเวลากำลังป่วย ท่านสั่งให้ทำพระอีกและก็แจกด้วยตนเองเรื่อยมา กว่าจะแจกทั่วถึงกันวันหนึ่ง ๆ ต้องเสียเวลาแจกตั้งชั่วโมง

เมื่อหลวงพ่อป่วยหนัก ได้มอบภาระและประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่พระครูสมณธรรมสมาทาน (มหาเจียก) ศิษย์ท่านแจกต่อไป โดยท่านพิจารณาเห็นแล้วว่าจะทำหน้าที่แทนท่านได้ เวลามอบของขวัญต้องเป็นพระครูองค์นี้ องค์อื่นไม่มอบ

ที่ให้พระครูสมณธรรมสมาทานเป็นผู้แจกนั้น โดยท่านเห็นว่าได้ธรรมกายมาตั้งแต่เป็นสามเณร ได้ใช้สอยให้ถอนโรคแทนตัวท่าน ทำงานได้ผลดีเป็นที่พอใจหลวงพ่อ มีความเชี่ยวชาญในทางสมาธิอยู่มาก จึงมอบให้รับภาระนี้ต่อมา พระที่ให้เป็นของขวัญนี้เวลานี้ก็ยังมีแจกและมีคนไปรับทุกวัน

ความจริงในเรื่องคนเดียวให้องค์เดียวนั้น หลวงพ่อถือขลังมาก ผู้เขียนเรื่องนี้ได้เคยรับจากหลวงพ่อมา ๑ องค์และได้มอบเป็นของขวัญแก่เด็กผู้มาขอตั้งชื่อไป วันหนึ่งไปขอหลวงพ่อใหม่ท่านไม่ยอมให้ บอกว่าต้ององค์เดียว ต่อมาไปพูดเลียบเคียงจะขออีก หลวงพ่อนิ่งเฉยไม่ยอมตอบ เป็นอันไม่ให้แน

ครั้งหนึ่งพูดกับหลวงพ่อว่า จะเอาติดตัวไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เมื่อใครต้องการจะได้ให้เป็นของขวัญต่อเขา หลวงพ่อว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ พระของเรามีคุณภาพจริง ผู้อยากได้ต้องมาเอง ถ้าเอาไปอย่างนั้นของดีก็กลายเป็นของเก๊ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและพูดแถมท้ายว่า อย่ากลัวเลย แปดหมื่นสี่พัน ๒ หนก็ไม่พอแจก และเป็นจริงดังคำพูดของหลวงพ่อ.
พระหลวงพ่อวัดปากน้ำ


พระหลวงพ่อวัดปา
กน้ำ ในนามสมณศักดิ์ พระมงคลเทพมุนี(สด) หรือที่พวกเราทั้งหลายส่วนมากเรียกท่านว่า หลวงพ่อวัดปากน้ พระของขวัญวัดปากน้ำภาษีเจริญ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเป็นผู้สร้าง เพื่อแจกเป็นของขวัญให้กับทุกๆคนที่มาทำบุญให้กับวัดปากน้ำ ท่านได้ทำทั้งหมดสามรุ่นด้วยกัน
เริ่มทำรุ่นแรกเมื่อ พศ.2493 มีจำนวนประมาณ 84,000 องค์ มีแม่พิมพ์ทั้งหมด 10 แม่พิมพ์ด้วยกัน ขนาดขององค์พระอาจจะมีใหญ่ และ เล็กกว่าบ้าง แต่ลักษณะคล้ายกันหมดทุกองค์ พระของขวัญของหลวงพ่อวัดปากน้ำรุ่น 2 เริ่มทำเมื่อ พศ.2494 ด้วยแม่พิมพ์ชุดเดียวกันกับรุ่นหนึ่ง พระรุ่นนี้สร้างประมาณ 84,000 องค์ ส่วนพระของขวัญรุ่นที่ 3 ได้สร้างขึ้นเมื่อ พศ.2499 เป็นจำนวนพระ 84,000 องค์
พระรุ่น 3 นี้ยังใช้แม่พิมพ์เดิมบ้าง และแม่พิมพ์ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ โดยการจัดทำของ พระวกนาโกศล (ธีระ คล้อสุวรรณ) เป็นชุดที่ได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อให้แก้ไขแม่พิมพ์เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะแม่พิมพ์เก่าๆได้เลือนลางลงไปมาก ฉะนั้นพระวัดปากน้ำรุ่น 3 จึงมีทั้งพิมพ์เดิม และ พิมพ์ที่แก้ไขใหม่ พระของขวัญวัดปากน้ำทั้ง 3 รุ่น หลวงพ่อวัดปากน้ำ(สด)เป็นผู้ที่สร้าง และ ปลุกเสกเองทั้งสิ้น

พระของขวัญวัดปากน้ำรุ่นแรก หลวงพ่อได้เริ่มทำพิธีปลุกเสกตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนกระทั่งถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ครบไตรมาส) หลวงพ่อเริ่มแจกครั้งแรกเมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 พศ.2493 เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของหลวงพ่อเอง ณ อุโบสถวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระของขวัญองค์แรกหลวงพ่อเป็นผู้ได้รับแจกเอง โดยได้บริจาคเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท องค์ที่ 2 ได้แก่หลวงภูมิ นาทสนิท ซึ่งเป็นผู้แกะแม่พิมพ์ทั้งหมด โดยบริจาคเงินจำนวน 25 บาท

พระวัดปากน้ำรุ่นหนึ่ง เมื่อมีคนเอาไปใช้แล้วถูกน้ำ เนื้อพระมักจะละลาย,ไม่ค่อยแน่น ต่อมาภายหลังก็ได้เอาพระที่เหลือจุ่มลงในแล็คเกอร์ หรือชแล็คเพื่อป้องกันการละลายน้ำ พระรุ่นหนึ่งมีการจุ่มลงแล็คเกอร์เป็นส่วนน้อย ส่วนพระปากน้ำรุ่น 2 ได้จุ่มแล็คเกอร์ หรือชแล็คหมดทุกองค์ ส่วนพระรุ่น 3 ก็คงใช้ผง และวัสดุจัดสร้างเหมือนกับพระรุ่น 1 - 2 แต่ว่าพระรุ่นนี้ได้มีส่วนผสมเพิ่มเติมให้มั่นคงยิ่งขึ้น คือผสมกล้วยน้ำว้า และน้ำมันตั้งอิ้ว ฉะนั้นพระรุ่นนี้จึงมีสีน้ำตาลอ่อนๆ แล้วแต่ความแห้งของพระ อาจจะแก่อ่อนกว่ากันก็ได้

ส่วนพระรูปล็อคเก็ตมงคลราชมุนีแบบรูปขาวดำเป็นสังกะสีหุ้มด้านหลัง หลวงพ่อได้จัดทำแจกในงานเลื่อนสมณศักดิ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2498 มีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ แต่จำนวนไม่มากนัก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของพระของขวัญหลวงพ่อวัดปากน้ำ เนื้อหาที่กล่าวมาได้ข้อมูลจากหนังสือที่ทางวัดพิมพ์แจกจ่าย (ชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี)

ล็อกเก็ตรุ่นแรกหลวงพ่อวัดปากน้ำ,ด้านหน้า ด้านหลัง