วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2550

หลวงพ่อทวด ตอน๑

"เรื่อง หลวงพ่อทวด" (ตอนที่ ๑)




เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วหัวเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย เล่าลือกันมาว่าทุกๆ สมัย เกิดมีพระภิกษุสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จมาถึง ๔ องค์ด้วยกันคือ

๑. สมเด็จเจ้าเกาะย
๒. สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่
๓. สมเด็จเจ้าจอมทอ
๔. สมเด็จเจ้าพะโคะ

แต่หนังสือนี้ ขอกล่าวเฉพาะตำนานสมเด็จเจ้าพะโคะโดยตรง ตามตำนานกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะองค์นี้ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชมุณีสามีรามคุณูปมาจารย์ จากสมเด็จพระมหาธรรมราชาสมัยพระองค์ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะ ชาตะ วันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๒๕ บิดาชื่อหู มารดาชื่อนางจันทร์ มีอายุมากแล้วจึงคลอดบุตรเป็นชายชื่อเจ้าปู่ และได้คลอดบุตรคนนี้ที่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระ (อ. จะทิ้งพระ จ. สงขลา เวลานี้)

ตาหู นางจันทร์ เป็นคนยากจน ได้อาศัยอยู่กับคฤหบดีผู้หนึ่งไม่ปรากฏนาม สองสามีภริยาเป็นผู้มั่นอยู่ในศีลธรรม เมื่อนางจันทร์ออกจากการอยู่ไฟ เนื่องในการคลอดบุตรแล้ว วันหนึ่งนางจันทร์อุ้มลูกน้อยพร้อมด้วยสามีออกไปทุ่งนา เพื่อช่วยเก็บเกี่ยวข้าวให้แก่เจ้าของบ้านที่พลอยอาศัย ครั้นถึงทุ่งนาได้เอาผ้าผูกกับต้นเหม้าและต้นหว้าซึ่งขึ้นอยู่ใกล้กัน ทำเป็นเปลให้ลูกนอน แล้วพากันลงนาเก็บเกี่ยวข้าวต่อไป

ขณะสองสามีภริยาเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ชั่วครู่ นางจันทร์เป็นห่วงลูก ได้เหลียวมามองที่เปล ปรากฏว่ามีงูบองตัวโตผิดปกติ ได้ขดตัวรวบรัดเปลที่เจ้าปู่นอน สองสามีภริยาตกใจร้องหวีดโวยวายขึ้น เพื่อนชาวนาที่เกี่ยวข้าวอยู่ใกล้เคียงก็รีบพากันวิ่งมาดู แต่ก็ไม่มีใครสามารถช่วยอะไรได้ งูใหญ่ตัวนั้นเห็นคนเข้าใกล้ก็ชูศีรษะสูงขึ้นส่งเสียงขู่คำรามดังอย่างน่ากลัว จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้เปลนั้นเลย

ฝ่ายนายหูนางจันทร์ผู้มั่นอยู่ในบุญกุศล ยืนนิ่งพินิจพิจารณาอยู่ ปรากฏว่างูใหญ่ตัวนั้นมิได้ทำอันตรายแก่เด็กบุตรน้อยของตนเลย จึงเกิดความสงสัยว่างูบองใหญ่ตัวนี้น่าจะเกิดจากเทพนิมิตบันดาล คิดดังนั้นแล้วก็พากันหาดอกไม้ และเก็บรวงข้าวเผาเป็นข้าวตอกนำมาบูชา และกราบไหว้งูใหญ่ พร้อมด้วยกล่าวคำสัตย์อธิษฐาน ขอให้ลูกน้อยปลอดภัย ในชั่วครู่นั้นงูใหญ่ก็คลายขนดลำตัวออกจากเปล อันตรธานหายไปทันที

นายหูนางจันทร์และเพื่อนพากันเข้าไปดูทารกที่ในเปล ปรากฏว่าเจ้าปู่ยังนอนหลับเป็นปกติอยู่ แต่มีแก้วดวงหนึ่งวางอยู่ที่คอในที่ลุ่มใต้ลูกกระเดือก แก้วดวงนั้นมีสีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี สองสามีภริยาจึงเก็บรักษาไว้ คหบดีเจ้าของบ้านทราบความ จึงขอแก้วดวงนี้ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ ตาหูนางจันทร์ก็จำใจมอบให้คหบดีผู้นั้น เมื่อได้แก้วพระยางูมาไว้เป็นสมบัติของตนแล้วก็รู้สึกพอใจ

ต่อมาไม่นานได้เกิดการวิปริต ให้ความเจ็บไข้ได้ทุกข์แก่คหบดี และครอบครัวขึ้นอย่างรุนแรงผิดปกติจะไม่มีทางแก้ไขได้ จนถึงที่สุด คหบดีเจ้าของบ้านจึงคิดว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คงจะเป็นเพราะยึดเอาดวงแก้วพระยางูนั้นไว้จึงให้โทษ และเกรงเหตุร้ายจะลุกลามยิ่งๆ ขึ้น จึงตัดสินใจคืนแก้วดวงนั้นให้สองสามีภริยากลับคืนไป ต่อมาภายในบ้านและครอบครัวของคฤหบดีผู้นั้นก็ได้อยู่เย็นเป็นสุขตามปกติ ขณะที่นายหูนางจันทร์ได้ครอบครองแก้ววิเศษอยู่นั้น ปรากฏว่าเจ้าของบ้านก็มีความเมตตาสงสาร ไม่ใช้งานหนัก การทำมาหากินเลี้ยงชีพก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ อยู่สุขสบายตลอดมา

เมื่อกาลล่วงนานมาจนเจ้าปู่อายุ ๗ ปี บิดามารดาได้นำไปถวายสมภารจวงให้เรียนหนังสือ ณ วัดดีหลวง เด็กชายปู่ศึกษาเล่าเรียนมีความเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าเพื่อนคนใดๆ เมื่อเด็กชายปู่มีอายุ ๑๕ ปี สมภารจวงผู้เป็นอาจารย์ได้บวชให้เป็นสามเณร ต่อมาท่านอาจารย์ได้นำไปฝากท่านพระครูสัทธรรมรังษี ให้เรียนหนังสือมูลกัจจายน์ ณ วัดสีหยัง (วัดสีคูยัง อ.ระโนต เวลานี้)

สามเณรปู่เรียนมูลกัจจายน์ อยู่กับท่านพระครูสัทธรรมรังษี ซึ่งคณะสงฆ์ส่งท่านมาจากกรุงศรีอยุทธยา ให้เป็นครูสอนวิชามูลฯ ทางหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยนั้น มีพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนกันมา สามเณรปู่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดส่อนิสัยปราชญ์มาแต่กำเนิด ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชามูลฯ อยู่ไม่นานก็สำเร็จ เป็นที่ชื่นชมของพระอาจารย์เป็นอย่างมาก

เมื่อสามเณรปู่เรียนจบวิชามูลฯ แล้ว ได้กราบลาพระอาจารย์ไปเรียนต่อยังสำนักพระครูกาเดิม ณ วัดสีมาเมือง เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อครบอายุบวช พระครูกาเดิมผู้เป็นอาจารย์ จัดการอุปสมบทให้เป็นภิกษุในพุทธศาสนา ทำญัติอุปสมบทให้ ฉายาว่า "สามีราโม" ณ สถานที่คลองแห่งหนึ่ง โดยเอาเรือ ๔ ลำ มาเทียบขนานเข้าเป็นแพทำญัติ ต่อมาคลองแห่งนั้น มีชื่อเรียกกันว่าคลองท่าแพจนบัดนี้

พระภิกษุปู่ เรียนธรรมอยู่สำนักพระครูกาเดิม ๓ ปี ก็เรียนจบชั้นธรรมบทบริบูรณ์ พระภิกษุปู่ได้กราบลาพระครูกาเดิมจากวัดสีมาเมืองกลับภูมิลำเนาเดิม ต่อมาได้ขอจะโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ ลงเรือที่ท่าเมืองจะทิ้งพระไปกรุงศรีอยุทธยาพระนครหลวง เพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมเพิ่มเติมอีก เรือสำเภาใช้ใบแล่นถึงเมืองนครศรีธรรมราช นายอินทร์เจ้าของเรือได้นิมนต์ขึ้นบก ไปนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีของชาวเรือเดินทางไกล ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อนๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางทางทะเล แล้วพากันมาลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เรือสำเภาใช้ใบออกสู่ทะเลหลวงเรียบร้อยตลอดมาเป็นระยะทาง ๓ วัน ๓ คืน

วันหนึ่งท้องทะเลฟ้าวิปริต เกิดพายุฝนตกมืดฟ้ามัวดินคลื่นคนองเป็นบ้าคลั่ง เรือจะแล่นต่อไปไม่ได้ จึงลดใบทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่ ๓ วัน ๓ คืน จนพายุร้ายสงบเงียบลงเป็นปกติ แต่เหตุการณ์บนเรือสำเภาเกิดความเดือนร้อนมาก เพราะน้ำจืดที่ลำเลียงมาหมดลง คนเรือไม่มีน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหาร นายอินทร์เจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้น หาว่าเป็นเพราะพระภิกษุปู่พลอยอาศัยมาจึงทำให้เกิดเหตุร้าย ซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาแต่ก่อนเลย

ผู้บันดาลโทษะย่อมไม่รู้จักผิดชอบฉันใด นายเรือคนนี้ก็ฉันนั้น เขาจึงได้ไล่พระภิกษุปู่ลงเรือใช้ให้ลูกเรือนำไปขึ้นฝั่ง หมายจะปล่อยท่านไปตามยะถากรรม ขณะที่พระภิกษุปู่ลงนั่งอยู่ในเรือเล็ก ท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือคนนั้นตักน้ำขึ้นดื่มกินดู ปรากฏว่าน้ำทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงขึ้นไปบอกบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบ พวกกะลาสีบนเรือใหญ่ จึงชวนกันตักน้ำทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหาย พากันอัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มองค์นี้ยิ่งนัก

ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือ จึงได้ดื่มน้ำนั้นพิสูจน์ดู ปรากฏว่าน้ำทะเลที่จืดนั้น มีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียน นอกนั้นเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของน้ำทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักในบริเวณนั้น ขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม นายอินทร์และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านเป็นที่อัศจรรย์เช่นนั้น ก็เกิดความหวาดวิตกภัยพิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่าน จึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่ แล้วพากันกราบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำหยาบต่อท่านมาแล้ว และถอนสมอใช้ใบแล่นเรือต่อไปเป็นเวลาหลายวันหลายคืนโดยเรียบร้อ

ขณะเรือสำเภาถึงกรุงศรีอยุทธยา เข้าจอดเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว นายอินทร์ได้นิมนต์ท่าน ให้ท่านเข้าไปในเมืองแต่ท่านไม่ยอมเข้าเมือง ท่านปรารถนาจะอยู่ ณ วัดนอกเมือง เพราะเห็นว่าเป็นที่เงียบสงบดี และได้ไปอาศัยอยู่ ณ วัดราชานุวาส ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ขณะนั้นพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุทธยา

ในสมัยนั้น ประเทศลังกาอันมีพระเจ้าวัฏฏะคามินีครองราชเป็นแผ่นดิน มีพระประสงค์จะได้กรุงศรีอยุทธยาไว้ใต้พระบรมเดชานุภาพ แต่พระองค์ไม่มีพระประสงค์จะก่อสงครามให้เกิดรบราฆ่าฟันกันและกัน ให้ประชาชนข้าแผ่นดินเดือดร้อน จึงมีนโยบายอีกอย่างหนึ่งที่สามารถจะเอาชนะประเทศอื่นโดยการท้าพนัน พระองค์จึงตรัสสั่งให้พนักงานพระคลังเบิกจ่ายทองคำในท้องพระคลังหลวง มอบให้แก่นายช่างทองไปจัดการหลอมหล่อเป็นตัวอักษรเท่าใบมะขามจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด แล้วมอบให้แก่พราหมณ์ผู้เฒ่า ๗ คน พร้อมด้วยข้าวของอันมีค่าบรรทุกลงเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยพระราชสาสน์ให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๗ นำลงเรือสำเภาใช้ใบแล่นไปยังกรุงศรีอยุธยา เมื่อเรือสำเภาจอดท่ากรุงศรีอยุทธยาเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๗ ได้พากันเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาถวายสาสน์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงไทยทรงอ่านพระราชสาสน์ความว่า พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าพระเจ้ากรุงไทยให้ทรงแปลพระธรรมในเมล็ดทองคำและเรียบเรียงตามลำดับให้เสร็จภายใน ๗ วัน ถ้าแปลและเรียบเรียงได้ทันกำหนด พระเจ้ากรุงลังกาขอถวายข้าวของอันมีค่าทั้ง ๗ ลำเรือสำเภาเป็นบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงไทย แต่ถ้าพระเจ้ากรุงไทยแปลเรียงเมล็ดทองคำไม่ได้ตามกำหนด ให้พระเจ้ากรุงไทยจัดการถวายดอกไม้เงินและทองส่งเป็นราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุกๆ ปี ตลอดไป

เมื่อพระองค์ทรงทราบพระราชสาสน์อันมีข้อความดังนั้น จึงทรงจัดสั่งนายศรีธนญชัยสังฆการี เขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะ และพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศให้เข้ามาแปลธรรมในพระมหานครทันกำหนด เมื่อได้ประกาศไปแล้ว ๖ วัน ก็ไม่มีใครสามารถแปลเรียบเรียงเมล็ดทองคำนั้นได้ พระองค์ทรงปริวิตกเป็นยิ่งนัก และในคืนวันนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่า มีพระยาช้างเผือกผู้มาจากทิศตะวันตก ขึ้นยืนอยู่บนพระแท่นในพระบรมมหาราชวัง ได้เปล่งเสียงร้องก้องดังได้ยินไปทั่วทั้งสี่ทิศ ทรงตกพระทัยตื่นบรรทมในยามนั้น และทรงพระปริวิตกในพระสุบินนิมิตเกรงว่าประเทศชาติจะเสียอธิปไตย และเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพ ทรงพระวิตกกังวลไม่เป็นอันจะบรรทมจนรุ่งสาง

เมื่อได้เสด็จออกยังท้องพระโรง สั่งให้โหรหลวงเข้าเฝ้าโดยด่วน และทรงเล่าพระสุบินนิมิตให้โหรหลวงทำนาย เพื่อจะได้ทรงทราบว่าร้ายดีประการใด เมื่อโหรหลวงทั้งคณะได้พิจารณาดูยามในพระสุบินนิมิตนั้นละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว ก็พร้อมกันกราบถวายบังคมทูลว่า ตามพระสุบินนิมิตนี้ จะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากทิศตะวันตกอาสาเรียงและแปลพระธรรมได้สำเร็จ พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะยั่งยืนแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสี่ทิศ เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วก็คลายพระปริวิตกลงได้บ้าง

ด้วยเดชะบุญบันดาลในเช้าวันนั้น บังเอิญศรีธนญชัยไปพบพระภิกษุปู่ที่วัดราชานุวาส ได้สนทนาปราศัยกันแล้วก็ทราบว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงเวลานี้) เพื่อศึกษาธรรม ศรีธนญชัยเล่าเรื่องพระเจ้ากรุงลังกาท้าพนันให้แปลธรรม แล้วถามว่าท่านยังจะช่วยแปลได้หรือ พระภิกษุปู่ตอบว่า ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ศรีธนญชัยจึงนิมนต์ท่านเข้าเฝ้า ณ ที่ประชุมสงฆ์ ขณะที่พระภิกษุปู่ถึงประตูหน้าพระวิหาร ท่านย่างเท้าก้าวขึ้นไปยืนเหยียบบนก้อนหินศิลาแลง ทันทีนั้นศิลาแลงได้หักออกเป็นสองท่อนด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

เมื่อเข้าไปในพระวิหาร พระมหากษัตริย์ตรัสสั่งพนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันสมควร แต่ก่อนท่านจะเข้านั่งที่แปลพระธรรมนั้น ท่านได้แสดงกิริยาอาการเป็นปัญหาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง ๗ กล่าวคือ ท่าแรกท่านนอนลงในท่าสีหะไสยาสน์ แล้วลุกขึ้นนั่งทรงกายตรง แล้วกะเถิบไปข้างหน้า ๕ ที แล้วลุกขึ้นเดินเข้าไปนั่งในที่อันสมควร

พราหมณ์ผู้เฒ่าทั้ง ๗ เห็นท่านแสดงกิริยาเช่นนั้นเป็นการขบขันก็พากันหัวเราะ และพูดว่า นี่หรือพระภิกษุที่จะแปลธรรมของพระบรมศาสดา อะไรจึงแสดงกิริยาอย่างเด็กไร้เดียงสา พราหมณ์พูดดูหมิ่นท่านหลายครั้ง ท่านจึงหัวเราะ แล้วถามพราหมณ์ว่า ประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ท่านไม่เคยพบเห็นกิริยาอาการเช่นนี้บ้างหรือ? พราหมณ์เฒ่าฉงนใจก็นิ่งอยู่ต่างนำบาตรใส่เมล็ดทองคำเข้าประเคนท่านทันที

เมื่อพระภิกษุปู่รับประเคนบาตรจากมือพราหมณ์มาแล้ว ท่านก็นั่งสงบจิตอธิษฐานแต่ในใจว่า ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์ และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อน และอำนนาจเทพยดาอันรักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้ง ขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์สำเร็จสมปรารถนาเถิด ครั้นแล้วท่านคว่ำบาตรเททองเรี่ยราดลงบนพรม และนั่งคุยกับพราหมณ์ตามปกติ

ด้วยอำนาจบารมีอภินิหารของท่าน ที่ได้จุติลงมาโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา ประกอบกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เทพยเจ้าทั้งหลายจึงดลบันดาล เรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับตัวอักษรโดยเรียบร้อยในเวลานั้น ชั่วครู่นั้นท่านก็ได้เหลียวกลับมาลงมือเรียบเรียง และแปลอักษรในเมล็ดทองคำจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด เป็นลำดับโดยสะดวกและไม่ติดขัดประการใดเลย นับว่าโชคชะตาของประเทศชาติยังคงรุ่งเรืองสืบไป

ขณะที่พระภิกษุปู่เรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฎว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไป ๗ ตัว ตือตัว สํ วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ พราหมณ์ทั้ง ๗ คนยอมจำนน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฎว่าพระภิกษุปู่แปลพระไตรปิฎกในเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์ เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น และทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงดนตรีปี่พาทย์ประโคม พร้อมเสียงประชาชนโห่ร้องต้อนรับชัยชนะเสียงดังสนั่นหวั่นไหวทั่วพระนครศรีอยุทธยาป็นการฉลองชั

สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง จึงทรงตรัสสั่งถวายราชสมบัติให้พระภิษุปู่ครอง ๗ วัน แต่ท่านไม่ยอมรับ โดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณเพศ ไม่สมควรที่จะครองราชสมบัติ อันผิดกิจของสมณควรประพฤติ พระองค์ก็จนพระทัย แต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีและความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งให้พระภิกษุปู่ดำรงสมณศักดิ์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" ในเวลานั้น

พระภิกษุปู่ หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ได้ประจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปีด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา




หลวงพ่อทวดเนื้อว่าน พิมพ์ใหญ่ พ.ศ. 2497




หลวงพ่อทวดเนื้อวาน พิมพ์กรรมการรุ่นแรก พ.ศ. 2497




อาจารย์ทิม ธัมมธโร และนายอนันต์ คณานุรักษ์ (นั่งขวามือของภาพ)
(ยืนจากซ้ายไปขวา) นายชาติ สิมศิริ, นายช่วง สิมศิริ และนายสุนนท์ คณานุรักษ์ บุตรชายคนที่ 2 ของนายอนันต์
ขณะกำลังเซ็นสัญญาสร้างอาคารโรงเรียนหลวงพ่อทวด



โดย: นายอนันต์ คณานุรักษ์ - หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

ไม่มีความคิดเห็น: