วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2550

หลวงพ่อทวด ตอน๒

"เรื่อง หลวงพ่อทวด" (ตอนที่ ๒ ตอนจบ)

ตระกูลคณานุรักษ์ ทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง
ตระกูลคณานุรักษ์ ทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง

กาลนานมาปีหนึ่ง ในพระมหานครศรีอยุทธยาเกิดโรคระบาดขึ้นร้ายแรงเช่นอหิวาตกโรค ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย พระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมาก เพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ และทรงระลึกถึงพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ขึ้นได้ จึงตรัสสั่งให้ศรีธนญชัยไปนิมนต์ท่านเข้ามาเฝ้า ทรงปรารภในเรื่องทุกข์ร้อนของพลเมืองที่ได้รับทุกข์ยุคเข็ญด้วยโรคระบาดอยู่ขณะนี้ ท่านจึงทำพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปประพรมให้แก่ประชาชนทั่วพระนคร ปรากฏว่าโรคระบาดได้ทุเลาเหือดหายไปในไม่ช้า ประชาชนได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ในหลวงทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอันมาก ทรงเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านอย่างยิ่ง วันหนึ่งได้ทรงตรัสปรารภกับท่านว่า ต่อไปนี้หากพระคุณเจ้ามีความปรารถนาสิ่งอันใด ขอนิมนต์แจ้งให้ทราบความปรารถนานั้นๆ จะทรงพระราชทานถวาย ขอพระคุณเจ้าอย่าได้เกรงพระทัยเลย

การล่วงมานานประมาณว่า พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์มีวัยชราแล้ว วันหนึ่งท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงเกรงใจท่าน ไม่กล้านิมนต์ขอร้องแต่อย่างใด ได้พระราชทานอนุญาตตามความปรารถนาของท่าน

เมื่อพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์กลับภูมิลำเนาเดิมแล้ว ครั้งนั้นปรากฏมีหลักฐานว่าไว้ว่า ท่านเดินกลับทางบกธุดงค์โปรดสัตว์เรื่อยมาเป็นเวลาช้านาน จึงถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ ตามแนวทางที่ท่านเดินและพักแรมที่ใด ต่อมาภายหลังสถานที่ท่านพักแรมนั้นเกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพบูชามาถึงบัดนี้ คือ ปรากฏว่าขณะที่ท่านพักแรมอยู่ที่บ้านโกฏิในอำเภอปากพนัง เมื่อท่านเดินทางจากไปแล้ว ภายหลังประชาชนยังมีความเคารพเลื่อมใสท่านอยู่มาก จึงได้ชักชวนกันขุดดินพูนขึ้นเป็นเนิน ตรงกับที่ท่านพักแรมไว้เป็นที่ระลึก รอบๆ เนินดินนั้นจึงเป็นคูน้ำล้อมรอบเนิน และสถานที่แห่งนี้ต่อมาก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนถึงบัดนี้

เมื่อท่านเดินทางมาถึงหัวลำภูใหญ่ในอำเภอหัวไทรในเวลานี้ เป็นสถานที่มีหาดทรายขาวสะอาด ต้นลำภูแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นเย็นสบาย ท่านจึงพักแรมอาศัยใต้ต้นลำภูนั้น ทำสมาธิวิปัสสนา ประชาชนในถิ่นนั้นได้พร้อมใจกันมากราบไหว้บูชา และฟังท่านแสดงธรรมอันเป็นหลักควรปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ต่อมาประชาชนเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้า จึงพร้อมใจกันสร้างศาลาถวายขึ้นหลังหนึ่ง และท่านได้จากสถานที่นี้ไปแล้ว ต่อมาภายหลังไม่นานศาลาหลังนี้เกิดเป็นศาลาศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนชาวบ้านถิ่นนั้นและถิ่นใกล้เคียงจึงชักชวนกันมาทำพิธีสมโภชศาลาศักดิ์สิทธิ์หลังนั้นเป็นการระลึกถึงท่าน ถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันพิธี ชักชวนกันทำขนมโคมาบวงสรวงสมโภชทุกๆ วันพฤหัสฯ เป็นประจำจนเป็นประเพณีมาจนกระทั่งบัดนี้

เมื่อท่านจากหัวลำภูใหญ่ เดินทางมาถึงบางค้อน ท่านได้หยุดพักแรมพอหายเมื่อยล้า แล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ หลังจากที่ท่านจากไปแล้วสถานที่บางค้อนก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปรากฏมาจนบัดนี้

พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ หรือพระภิกษุปู่กลับถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะครั้งนี้ ประชาชนชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ ประชาชนได้พร้อมกันขนานนามท่านขึ้นใหม่เรียกกันว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ" ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ ต่อมาวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นชื่อเดิมก็ถูกเรียกย่อๆ เสียใหม่ว่า "วัดพะโคะ" จนบัดนี้

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ นี้ มีพระอรหันต์ ๓ องค์ เป็นผู้สร้างขึ้น คือ

๑. พระนาไรมุ้ย
๒. พระมหาอโนมทัสสี
๓. พระธรรมกาวา

ต่อมาพระมหาอโนมทัสสี ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระบรมศาสดากลับมา พระยาธรรมรังคัล เจ้าเมืองจะทิ้งพระในสมัยนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธา จัดการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่สูงถึง ๒๐ วา ขึ้นถวายแล้วทำพิธีสมโภชบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในเจดีย์องค์นั้น และคงมีปรากฏอยู่จนบัดนี้

ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ได้หยุดพักผ่อนนานพอสมควร ท่านได้ตรวจดูเห็นปูชนียสถานและกุฏิวิหารเก่าแก่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ควรจะบูรณะซ่อมแซมเสียใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา เข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาอีกวาระหนึ่ง (ในตำนานมิได้กล่าวไว้ว่าท่านไปทางบกหรือไปทางน้ำ) เมื่อได้สนทนาถามสุขทุกข์กันแล้ว ท่านก็ทูลถวายพระพรพระองค์ ตามความปรารถนาที่จะบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดให้พระองค์ทรงทราบ ครั้นได้ทรงทราบจุดประสงค์ ก็ทรงศรัทธาเลื่อมใสร่วมอนุโมทนาด้วย จึงตรัสสั่งให้พระเอกาทศรถ พระเจ้าลูกยาเธอ จัดการเบิกเงินในท้องพระคลังหลวงมอบถวาย และจัดหาศิลาแลงบรรทุกเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยนายช่างหลวงหลายนาย มอบหมายให้ท่านนำกลับไปดำเนินงานตามความปรารถนา ปรากฏว่าท่านได้ทำการบูรณะซ่อมแซมและปลูกสร้าง (วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ) อยู่หลายปีจึงสำเร็จบริบูรณ์

สมเด็จเจ้าพะโคะ เข้าไปเฝ้าพระมหาธรรมราชายังกรุงศรีอยุทธยาครั้งนี้ ปรากฏว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสเคารพต่อท่านเป็นยิ่งนัก ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานที่ดินนาถวายแก่ท่านเป็นกัลปนา ขึ้นแก่วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ จำนวน ๙๐ ฟ้อน พร้อมด้วยประชาราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตที่ดินนั้น มีอาณาเขตติดต่อ โดยถือเอาวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะเป็นศูนย์กลาง ดังนี้

๑. ทางทิศเหนือ ตั้งแต่แหลมชุมพุกเข้ามา
๒. ทางทิศใต้ ตั้งแต่แหลมสนเข้ามา
๓. ทางทิศตะวันออก จดทะเลจีนเข้ามา
๔. ทางทิศตะวันตก จดทะเลสาปเข้ามา

ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะ กลับจากกรุงศรีอยุทธยา ได้ประจำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่าท่านมีอายุกาลถึง ๘๐ ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัว ไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น ๓ คด ชาวบ้านเรียกว่าไม้เท้า ๓ คด ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน และขณะที่ท่านเดินเล่นรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเรียบชายฝั่งมา พวกโจรสลัดจีนเห็นสมเด็จเดินอยู่ คิดเห็นว่าเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเข้าขึ้นฝั่งนำเอาท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือเรือลำนั้นจะแล่นต่อไปไม่ได้ ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนได้พยายามแก้ไขจนหมดความสามารถ เรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ที่สุดน้ำจืดที่ลำเรียงมาบริโภคในเรือก็ได้หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหาร พากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยการกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จท่านสังเกตเห็นเหตุการณ์ ความเดือดร้อนของพวกเรือถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกาบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล ทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกจีนไป เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้ว ก็สั่งให้พวกโจรจีนตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลอง เพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืด เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรสลัดจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษ แล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป

เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่ง ท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอาไม้เท้า ๓ คดพิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนสภาพจากเดิมกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่า ต้นยางไม้เท้า ยังมีปรากฏอยู่ถึงเวลานี้

สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ ครองสมณเพศประจำพรรษาอยู่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฏร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนได้ตลอดมา


ตอนนี้ได้รับความกรุณาจากพระอุปัชฌาย์ดำ ดิสฺสโร สำนักวัดศิลาลอย อำเภอจะทิ้งพระ เป็นผู้เล่าตามนิยายต่อกันมา โดยท่านพระครูวิริยานุรักษ์ วัดตานีนรสโมสร บันทึกมาให้ผู้เขียน ความดังต่อไปนี้

ในสมัยสมเด็จเจ้าพะโคะ พำนักอยู่วัดพะโคะครั้งนั้น ยังมีสามเณรน้อยรูปหนึ่ง เข้าใจว่าคงอาศัยอยู่วัดใดวัดหนึ่งในท้องที่อำเภอหาดใหญ่เวลานี้ สามเณรรูปนี้ได้บวชมาแต่อายุน้อยๆ ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมีความขยันหมั่นเพียร ก่อแต่การกุศลในพระพุทธศาสนา และตั้งจิตอธิษฐานจะขอพบพระศรีอริยะอย่างแรงกล้า อยู่มาคืนวันหนึ่งมีคนแก่ถือดอกไม้เดินเข้ามาหา แล้วประเคนดอกไม้ส่งให้แล้วบอกว่า นี่เป็นดอกไม้ทิพย์ไม่รู้จักร่วงโรย พร้อมกับกล่าวว่า พระศรีอริยะโพธิสัตว์นั้น ขณะนี้ได้จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์เพื่อโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา สามเณรเจ้าจงถือดอกไม้ทิพย์นี้ออกค้นหาเถิด หากผู้ใดรู้จักกำเนิดของดอกไม้นี้แล้ว ผู้นั้นแหละเป็นองค์พระศรีอริยะที่จุติมา เจ้าจงพยายามเที่ยวค้นหาคงจะพบ เมื่อกล่าวจบแล้วคนแก่นั้นก็อันตรธานหายไปทันที

สามเณรน้อยมีความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก วันรุ่งเช้าจึงเข้ากราบลาสมภารเจ้าอาวาส ถือดอกไม้ทิพย์เดินออกจากวัดไป สามเณรเดินทางตรากตรำลำบากไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ก็ไม่มีใครทักถามถึงดอกไม้ทิพย์ที่ตนถืออยู่นั้นเลย แต่สามเณรก็พยายามอดทนต่อความเหนื่อยยาก ต้องตากแดดกรำฝนไปเป็นเวลาช้านา

วันหนึ่งต่อมา สามเณรน้อยเดินทางเข้าเขตวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ ในเวลาใกล้จะมืดค่ำเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงส่องรัศมีจ้าไปทั่วท้องฟ้า และเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ลงทำสังฆกรรมในโบสถ์ สามเณรถือดอกไม้ทิพย์ เดินเข้าไปยืนอยู่ริมประตูโบสถ์ รอคอยพระสงฆ์ที่จะมาลงอุโบสถ พอถึงเวลา พระภิกษุทั้งหลายก็เดินทะยอยกันเข้าโบสถ์ ผ่านหน้าสามเณรไปจนหมด ไม่มีพระภิกษุองค์ใดทักถามสามเณรเลย

เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งที่ในโบสถ์เรียบร้อยแล้ว สามเณรจึงเดินเข้าไปนมัสการถามพระสงฆ์เหล่านั้นว่า วันนี้พระมาลงอุโบสถหมดทุกองค์แล้วหรือ พระภิกษุตอบว่ายังมีสมเด็จอยู่อีกองค์วันนี้ไม่มาลงอุโบสถ สามเณรทราบดังนั้น ก็กราบลาพระสงฆ์เหล่านั้น เดินออกจากโบสถ์มุ่งตรงไปยังกุฏิของสมเด็จเจ้าฯ ทันที ครั้นถึง สามเณรก็คลานเข้าไปใกล้ก้มกราบนมัสการท่านอยู่ตรงหน้าสมเด็จเจ้าฯ ได้ประสพดอกไม้ในมือของสามเณรถืออยู่ จึงถามว่า สามเณร นั่นดอกมณฑาทิพย์ เป็นดอกไม้เมืองสวรรค์ ผู้ใดให้เจ้ามา สามเณรรู้แจ้งใจตามที่นิมิต จึงคลานเข้าไปใกล้ก้มลงกราบที่ฝ่าเท้า แล้วประเคนถวายดอกไม้ทิพย์นั้นแก่สมเด็จฯ ทันที เมื่อสมเด็จเจ้าฯ รับประเคนดอกไม้ทิพย์จากสามเณรน้อยแล้ว ท่านได้สงบอารมณ์อยู่ชั่วครู่ มิได้พูดจาประการใด แล้วลุกขึ้นเรียกสามเณรเดินตรงเข้าในกุฏิปิดประตูลงกลอน และเงียบหายไปในคืนนั้น มิได้ร่องรอยแต่อย่างใดเหลือไว้ให้พิสูจน์ จนเวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้ ประมาณสามร้อยปีแล้ว

การหายตัวไปของสมเด็จเจ้าพะโคะครั้งนั้น ประชาชนเล่าลือกันว่า ท่านได้สำเร็จสู่สวรรค์ไปเสียแล้ว ด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารท่านแรงกล้า ตามที่กล่าวเล่าลือกันเช่นนั้น เพราะมีเหตุอัศจรรย์ปรากฏขึ้นในคืนนั้นว่า บนอากาศบริเวณวัดพะโคะ ได้มีดวงไฟโตขนาดเท่าดวงไต้ ส่องรัศมีสีต่างๆ เป็นปริมณฑล ดังพระจันทร์ทรงกลดลอยวนเวียนรอบบริเวณวัดพะโคะ ส่องรัศมีสว่างจ้าไปทั่วบริเวณวัด เมื่อดวงไฟดวงนั้นลอยวนเวียนอยู่ครบสามรอบแล้ว ลอยเคลื่อนไปทางทิศอาคเนย์ เงียบหายมาจนกระทั่งบัดนี้

วันรุ่งเช้าประชาชนมาร่วมประชุมกันที่วัด และต่างคนต่างก็เข้าใจว่าสมเด็จเจ้าฯ ท่านสำเร็จสู่สวรรค์ไป จึงได้พากันพนมมือขึ้นเหนือศีรษะพร้อมกับเปล่งเสียงว่า สมเด็จเจ้าพะโคะโล่ไปเสียแล้วเจ้าข้าเอย

เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะโล่หายไปจากวัดพะโคะครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฯ ท่านได้ทิ้งของสำคัญไว้ให้เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตลอดมาคือ


๑. ดวงแก้วที่พระยางูใหญ่ให้ ครั้งเป็นทารกอยู่ในเปล ๑ ดวง และสมภารทุกๆ องค์ของวัดพะโคะได้เก็บรักษาไว้จนถึงบัดนี้ ปรากฏว่าแก้วดวงนี้ไม่มีใครกล้านำออกจากบริเวณวัดพะโคะ เพราะเกรงจะเกิดภัย

๒. ก่อนที่สมเด็จเจ้าฯ จะโล่หายไป ปรากฏว่าท่านได้ขึ้นไปทำสมาธิอยู่บนชะง่อนผาบนภูเขาบาท ได้เอาเท้าซ้ายเหยียบลงบนลาดผาลึกเป็นรอยเท้า เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนมาจนกระทั่งบัดนี้ (ท่านพระครูวิสัยโสภณ วัดช้างให้ ได้ไปนมัสการมาแล้ว)


นิยายเรื่องนี้ได้รับความกรุณาจาก ท่านพระครูวิสัยโสภณ (ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดราษฎรบูรณะ (วัดช้างให้) ข้าพเจ้าบันทึกเรียบเรียงและเพิ่มเติมตามที่ได้สืบทราบมาดังต่อไปนี้

สมัยที่สมเด็จเจ้าพะโคะ โล่หายไปจากวัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา ครั้งนั้นได้มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งปรากฏตัวขึ้นที่เมืองรัฐไทรบุรีเวลานี้ พระภิกษุรูปนี้เป็นปราชญ์ทางธรรม และเชี่ยวชาญทางอิทธิอภินิหารเป็นยอดเยี่ยม ชาวเมืองไทรบุรีมีความเคารพเลื่อมใสมาก ซึ่งสมัยนั้นคนมะลายูในเมืองไทรบุรีนับถือศาสนาพุทธ ต่อมาท่านก็ได้เป็นสมภารเจ้าวัดแห่งหนึ่งในเมืองนั้น

มีเรื่องชวนคิดอยู่ว่า พระภิกษุชรารูปนี้ไม่มีประชาชนคนใดจะทราบได้ว่า ท่านชื่ออย่างไร ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครซักถาม จึงพากันขนานนามเรียกกันว่า "ท่านลังกา องค์ท่านดำ" ท่านปกครองวัดด้วนอำนาจธรรมและอภินิหารอย่างยอดเยี่ยม เป็นที่พึ่งทางธรรมปฏิบัติและการเจ็บไข้ได้ทุกข์ของประชาชน ด้วยเมตตาธรรม ประชาชนเพิ่มความเคารพเลื่อมใสท่านตลอดถึงพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรีสมัยนั้น และท่านมีความสุขตลอดมา (ท่านลังกาองค์นี้จะเป็นสมเด็จเจ้าพะโคะใช่หรือไม่ ขอให้อ่านต่อไป)

เมื่อข้าพเจ้าผู้เขียนยังหนุ่มๆ หรือประมาณ ๔๕ ปีมาแล้ว ได้อ่านหนังสือตำนานเมืองปัตตานี ซึ่งรวบรวมโดยคุณพระศรีบุรีรัฐ (สิทธิ์ ณ สงขลา) นายอำเภอชั้นลายครามของอำเภอยะรัง เรียบเรียง มีข้อความตอนหนึ่งว่า สมัยนั้นพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรี ปรารถนาจะหาที่ชัยภูมิดีสร้างเมืองให้เจ๊ะสิตี น้องสาวครอบครอง เมื่อโหรหาฤกษ์ยามดีได้เวลา ท่านเจ้าเมืองก็เสี่ยงสัตย์อธิษฐานปล่อยช้างตัวสำคัญคู่บ้านคู่เมืองออกเดินป่า หรือเรียกว่าช้างอุปการ เพื่อหาที่ชัยภูมิดีสร้างเมือง ท่านเจ้าเมืองก็ยกพลบริวารเดินตามหลังช้างนั้นไปเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งช้างได้เดินไปหยุดอยู่ ณ ที่ป่าแห่งหนึ่ง (ที่วัดช้างให้เวลานี้) แล้วเดินวนเวียนร้องขึ้น ๓ ครั้ง พระยาแก้มดำถือเป็นนิมิตที่ดีจะสร้างเมือง ณ ที่ตรงนี้ แต่น้องสาวตรวจดูแล้วไม่ชอบ พี่ชายก็อธิษฐานให้ช้างดำเนินหาที่ใหม่ต่อไป ได้เดินทางรอนแรมอีกหลายวัน เวลาตกเย็นวันหนึ่งก็หยุดพักพลบริวาร ทางน้องสาวถือโอกาสออกจากที่พักเดินเล่น บังเอิญขณะนั้นมีกระจงสีขาวผ่องตัวหนึ่ง วิ่งผ่านหน้านางไป นางอยากจะได้กระจงขาวตัวนั้น จึงชวนพวกพี่เลี้ยงวิ่งไล่ล้อมจับกระจงตัวนั้น ได้วิ่งวกไปเวียนมาบนเนินทรายอันขาวสะอาดริมทะเล (ที่ตำบลกิเซะเวลานี้) ทันใดนั้นกระจงก็ได้อันตรธานหายไป นางเจ๊ะสิตีรู้สึกชอบตรงที่นี้มาก จึงขอให้พี่ชายสร้างเมืองให้

เมื่อพระยาแก้มดำปลูกสร้างเมืองให้น้องสาว และมอบพลบริวารให้ไว้พอสมควรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชื่อเมืองนี้ว่า เมืองปะตานี (ปัตตานี) ขณะนั้นพระยาแก้มดำเดินทางกลับมาถึงภูมิประเทศที่ช้างบอกให้ครั้งแรก ก็รู้สึกเสียดายสถานที่ จึงตกลงใจหยุดพักแรมทำการแผ้วถางป่า และปลูกสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า วัดช้างให้ มาจนบัดนี้ ต่อมาพระยาแก้มดำ ก็ได้มอบถวายวัดช้างให้แก่ท่านลังกาครอบครองอีกวัดหนึ่ง

ผู้เขียนขอกล่าวนอกเรื่องเพียงเล็กน้อย เพื่อผู้คนที่ยังไม่ทราบว่า สมัยโบราณกาลนานมานั้น คนมลายูนับถือศาสนาพุทธ พระยาแก้มดำคนมลายู จึงได้สร้างวัดช้างให้ขึ้น ผู้เขียนจึงขออ้างหนังสือของพระยารัตนภักดี ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง ปัญหาดินแดนไทยกับมลายู ซึ่งท่านพิมพ์แจกในการกุศล หน้า ๘ บรรทัดที่ ๑๖ ในหนังสือนั้นกล่าวอ้างตามประวัติศาสตร์ไว้ว่า พ.ศ. ๑๓๐๐ กษัตริย์ครองกรุงศรีวิชัยแห่งปาเล็มบัง มีอานุภาพแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงแหลมมลายู ปกครองแผ่นดินส่วนหนึ่งถึงอำเภอไชยา ได้นำลัทธิพระพุทธศาสนาเข้ามาสั่งสอนในแหลมมลายู และได้ก่อสร้างปูชนีย์ฯ ทางพระพุทธศาสนาไว้หลายแห่ง ซึ่งยังปรากฏอยู่บัดนี้

ตามประวัติศาสตร์มลายูกล่าวว่า มีผู้พบศิลาจารึกแผ่นหนึ่งที่นครศรีธรรมราช จารึกว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๓๑๘ เจ้าเมืองศรีวิชัยได้มาก่อพระเจดีย์องค์หนึ่งที่นครศรีธรรมราช และที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งเกี่ยวกับโบราณวัตถุ คือพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำแห่งภูเขา (วัดหน้าถ้ำ) ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา คาดคะเนว่าได้สร้างไว้ในสมัยพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ระหว่าง พ.ศ. ๑๓๑๘ - ๑๔๐๐ ต่อมาก็ได้ปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม ซึ่งยังคงปรากฏอยู่จนกระทั่งบัดนี้ องค์พระยาวถึง ๘๑ ฟุต ๑ นิ้ว ขนาดใหญ่วัดโดยรอบองค์พระ ๓๕ ฟุต และตามตำนานของคุณพระศรีบุรีรัฐกล่าวไว้ว่า สมัยหลายร้อยปีมาแล้ว คนมลายูนับถือศาสนาพุทธ แต่ได้มาเปลี่ยนนับถือศาสนาอิสลามเสียภายหลัง ผู้เขียนได้อ้างตำนานของท่านผู้มีเกียรติทั้งสองมายืนยันพอสมควรแล้ว ก็ขอย้อนกลับไปวัดช้างให้อีก

ทำให้ชวนคิดว่า วัดที่ท่านลังกาอยู่ถึงเมืองไทรบุรี ระยะทางที่จะมาวัดช้างให้ก็ไกลมาก ทางเดินก็มีแต่ป่าและภูเขาแสนจะทุรกันดาร ท่านลังกามีวัยชราภาพมากแล้วจะเดินไปเดินมาไหวหรือ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อๆ กันมาว่า ท่านลังกาเดินทางไปมาระหว่างวัดทั้งสองนี้เดินทางเวลาแรมเดือนแบบธุดงค์ ขณะที่ท่านเดินทางนั้นพบที่ใดเหมาะก็พักแรมหาความวิเวก เพื่อทำสมาธิภาวนา ใช้เวลาพักนานๆ เช่นภูเขาถ้ำหลอด ในกิ่งอำเภอสะบ้าย้อย ก็ปรากฏว่ามีสิ่งที่ควรเชื่อถือได้ว่า ท่านเป็นผู้ทำไว้แต่ครั้งเดินทางพักแรม จากนั้นก็ปรากฏอยู่บนเพิงหินบนภูเขาตังเกียบ เทือกภูเขาน้ำตกทรายขาว ทางทิศตะวันออกของลำธารน้ำตก มีพระพุทธรูปแกะด้วยไม้ตำเสาแบบพระยืนสององค์ ชาวบ้านตำบลทรายขาวเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า หลวงพ่อตังเกียบเหยียบน้ำทะเลจืด เขาคาดคะเนกันว่าพระพุทธรูปสององค์นี้ท่านลังกาเป็นผู้สร้างสมัยที่เดินทางและอาศัยพักอยู่ หลวงพ่อสององค์นี้เล่าลือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก และเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านในถิ่นนั้นมาถึงบัดนี้ (ผู้เขียนได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว)

พระภิกษุชราองค์นี้ ท่านอยู่เมืองไทรบุรี เขาเรียกว่าท่านลังกา เมื่อท่านมาอยู่วัดช้างให้ ชาวบ้านเรียกว่าท่านช้างให้ เป็นเช่นนี้ตลอดมา

ขณะที่ท่านลังกาพำนักอยู่ที่วัดในเมืองไทรบุรี วันหนึ่งอุบาสกอุบาสิกาและลูกศิษย์อยู่พร้อมหน้า ท่านได้พูดขึ้นในกลางชุมนุมนั้นว่า ถ้าท่านมรณภาพเมื่อใดขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย และขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเน่าไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นจงเอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ ต่อไปข้างหน้าจะเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่มาไม่นานเท่าไรก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา คณะศิษย์ผู้เคารพในตัวท่านก็ได้จัดการตามที่ท่านสั่งโดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อทำการฌาปนกิจศพท่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะศิษย์ผู้ไปส่งได้ขอแบ่งเอาอัฐิของท่านแต่ส่วนน้อยนำกลับไปทำสถูปที่วัด ณ เมืองไทรบุรี ไว้เป็นที่เคารพบูชา ตลอดมาจนบัดนี้


เรื่องสมเด็จเจ้าพะโคะ กับท่านช้างให้ หรือหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดนี้ มีปัญหาว่า จะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ ตำนานโบราณก็มิได้กล่าวไว้ แต่ผู้เขียนคาดคะเนตามนิมิตต่างๆ เชื่อว่าเป็นพระองค์เดียวกัน คือสมัยท่านมีชีวิตเรียกชื่อท่านหลายชื่อ เช่น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ และ ท่านลังกา ท่านช้างให้ แต่เมื่อท่านมรณภาพแล้ว เรียกเขื่อนหรือสถูปศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุอัฐิของท่านว่า "เขื่อนท่านช้างให้" แต่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ผู้เขียนได้สร้างพระเครื่องขึ้นต่างองค์ท่าน ให้ชื่อว่า ท่านช้างให้ แต่ท่านไม่เอา ท่านบอกให้ชื่อว่า "หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ดังมีเรื่องกล่าวต่อไปนี้

ก่อนที่เขื่อน หรือ สถูปจะปรากฏความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นครั้งแรก เล่าต่อๆ กันมาว่า มีเด็กชายลูกชาวบ้านคนหนึ่ง พ่อเขาไล่ตี เด็กนั้นวิ่งหนีเข้าไปในบริเวณวัดช้างให้แล้วหายตัวไป ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง เมื่อพ่อของเด็กไล่ตามเข้าไปในวัดก็มิได้เห็นตัวเด็ก เขาค้นหาจนอ่อนใจก็ไม่พบ จึงกลับบ้าน ชวนเพื่อนบ้านช่วยกันค้นหา ขณะพวกชาวบ้านผ่านเข้าเขตวัด ก็เห็นเด็กนั้นเดินยิ้มเข้ามาหาและหัวเราะพูดขึ้นว่า พ่อของมันดุร้ายไล่ทุบตีลูกไม่มีความสงสาร กูเห็นแล้วอดสงสารไม่ได้จึงเอามันไปซ่อนไว้ พวกชาวบ้านก็ตื่นตกงกงัน เพราะเด็กนั้นพูดแปลกหูผู้ฟัง เป็นเสียงของคนแก่ แต่เด็กพูดต่อไปว่า พวกสูไม่รู้จักกูหรือ กูชื่อว่าท่านเหยียบน้ำทะเลจืด ผู้ศักดิ์สิทธิ์เจ้าของเขื่อนนี้ (สถูป) พวกสูจะลองดีก็จงเอาน้ำเกลือใส่อ่างมากูจะทำให้ดู มีชาวบ้านผู้หนึ่งปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เด็กชายนั้นก็ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำเกลือในอ่างทันที และบอกให้ชาวบ้านชิมน้ำเกลือนั้นดู ได้ประจักษ์ว่า น้ำนั้นมีรสจืดเป็นน้ำบ่อ เป็นที่อัศจรรย์นัก เด็กนั้นพูดอีกว่า พวกสูยังไม่เชื่อกูก็ให้ก่อไฟขึ้น ชาวบ้านก็ทำตาม ขณะกองไฟลุกโชนเป็นถ่านแดงดีแล้ว เด็กประทับทรงท่านเหยียบน้ำทะเลจืดก็กระโดดเข้าไปยืนอยู่ในกลางกองไฟอันร้อนแรง ยิ้มแล้วถามว่า สูเชื่อหรือยัง พ่อของเด็กตกใจ เกรงลูกจะเป็นอันตราย จึงก้มลงกราบไหว้ขอโทษ เด็กนั้นจึงเดินออกจากกองไฟเป็นปกติ

ครั้นท่านพระครูวิสัยโสภณ (ท่านอาจารย์ทิม ธมฺมธโร) เข้ามาครองวัดช้างให้ใหม่ๆ ท่านข้องใจเรื่องวัดของเดิม เพราะถามชาวบ้านไม่มีใครรู้ คืนวันหนึ่งท่านฝันว่า พบคนแก่ยืนอยู่กลางลานวัด ท่านถามถึงเขตวัดตามความข้องใจ คนแก่นั้นบอกว่า ให้ไปถามท่านเหยียบน้ำทะเลจืดในเขื่อน คนแก่จึงนำท่านพระครูฯ ไป เห็นพระภิกษุผู้เฒ่าเดินออกมาจากในเขื่อนสามองค์ ปรากฏว่า ๑. หลวงพ่อสี ๒. หลวงพ่อทอง ๓. หลวงพ่อจันทร์ องค์หลังสุดถือไม้เท้าใหญ่ ๓ คด เดินยันออกมางกงันเพราะความชรามากกว่าองค์ใดๆ คนแก่จึงบอกว่าองค์นี้แหละ ท่านเหยียบน้ำทะเลจืด ท่านจึงเอาแขนกอดคอท่านพระครูฯ นำเดินชี้เขตวัดเก่าให้ทราบทั้ง ๔ ทิศ ตลอดถึงเนินดินซึ่งเป็นโบสถ์โบราณ และบันดาลให้ท่านอาจารย์ฯ ได้เห็นวัตถุต่างๆ ในหลุมนิมิตซึ่งเป็นของไม่มีค่า เช่นพระพุทธรูปหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ เมื่อจะกลับเข้าไปในเขื่อน ท่านได้สั่งว่าต้องการอะไรให้บอก แล้วเข้าในเขื่อนหายไป

"คำว่าเอาอะไรให้บอก คำนี้สำคัญมาก คราวต่อมาโบสถ์ก็สำเร็จ พระเครื่องก็ศักดิ์สิทธิ์"

โดย: นายอนันต์ คณานุรักษ์ - หนังสือประวัติหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และคุณอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อทวดฯ วัดช้างให้ (พ.ศ. ๒๕๐๔)

ไม่มีความคิดเห็น: